ศตวรรษก่อนๆ เป็นศตวรรษของเจ้าอาณานิคมที่ออกไปล่าเมืองขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี (ออตโตมัน) เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) อิตาลี และสหรัฐ ประเทศที่ทุกข์ทรมานจากการถูกล่าเมืองขึ้นมีทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา และดินแดนในเกาะแก่งต่างๆ โชคดีที่ดินแดนแห่งอารยธรรมใหญ่ๆ ยังคงดำรงรักษาสถานะของประเทศตัวเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย บราซิล ฯลฯ

ขณะนี้เราเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 21 มาได้ 23 ปีแล้ว โลกก็พลิก ประเทศที่เคยล่าอาณานิคม กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ อย่างเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนประเทศที่เคยลำบากยากลำเค็ญจากการถูกล่า กลายมาเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟุ้ง

ขอแสดงความยินดีกับประเทศที่เคยลำบากยากเข็ญ ที่ปัจจุบันครอบครอง Rare Earth หรือแร่หายาก หากเป็นเมื่อสมัยที่ฝรั่งมังค่ายังมีกองกำลังที่ยิ่งใหญ่ก็คงจะยึดเอาประเทศเหล่านี้เป็นของตนไปแล้ว แต่สมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเจอแร่หายากก็ยึดไม่ได้แล้วครับ เพราะประเทศเหล่านี้มีกองกำลังทหารที่แข็งแรง มีเศรษฐกิจที่ดี มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพจำนวนมาก

แร่หายากที่ผมกำลังพูดถึงคือกลุ่มแร่ธาตุ 17 ชนิดที่เรียกว่ากลุ่มธาตุแลนทาไนด์และกลุ่มโลหะทรานซิชัน ทั่วโลกใช้แร่หายากในหลายอุตสาหกรรม ทั้งใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญหรือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ใครมีแร่หายากเยอะ ประเทศนั้นก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงได้ง่าย นำไปทำสายใยแก้วนำแสง รถพลังงานไฟฟ้า ทีวีจอแบน กระจกคุมความร้อน อุปกรณ์ทางการแพทย์ คอมพิวเตอร์พกพา โทรศัพท์เคลื่อนที่ ขีปนาวุธ และยุทธปัจจัยต่างๆ

ประเทศที่มีแร่หายากมากที่สุดในโลกคือจีน ผมขออนุญาตนำข้อมูล Mine Production of rare earths in China from 2010-2022 จาก statista.com ซึ่งเป็นข้อมูลทางสถิติที่ได้รับการยอมรับมารับใช้กันครับ จีนผลิตแร่หายากได้เกิน 1 แสนตันตั้งแต่ ค.ศ.2014 จนถึง 2021และตั้งแต่ ค.ศ.2022 จีนผลิตแร่หายากได้เกิน 2 แสนตัน ประเทศไหนจะแสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์จีน แต่เมื่อถึงประเด็นแร่หายาก ทุกประเทศก็ทำตัวสงบเงียบเรียบร้อย เพราะอยากได้รับความเมตตาจากจีน แบ่งปันแร่หายากนำไปใช้

...

ที่สร้างความตะลึงพรึงเพริดให้กับวงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลกก็คือการแถลงของรัฐบาลอินเดียเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2023 อินเดียพบแหล่งสำรองลิเทียมเป็นครั้งแรกจำนวนมากถึง 5.9 ล้านตัน ทันทีที่รัฐมนตรีเหมืองแร่ของอินเดียประกาศการค้นพบ พวกผู้เชี่ยวชาญจากตะวันตกก็สวนมาเลยครับว่า การผลิตเหมืองแร่ลิเทียมไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขุดแร่เสร็จแล้วก็ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการใช้เชื้อเพลิงคั่วแร่ลิเทียม กระบวนการสกัดแร่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก และจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย

พวกที่พูดอาจจะต้องการสื่อว่า อ้า อินเดียทำเองไม่ได้นะ เทคโนโลยีคุณไม่พอ คุณจะทำร้ายโลกนะ (ถ้าจะทำต้องให้พวกเราชาวตะวันตกเข้าไปทำ) ขอเรียนนะครับ ว่าเทคโนโลยีอินเดียสมัยนี้ล้ำไม่แพ้ใคร เทคโนโลยีหลายอย่างดีกว่าของตะวันตกเสียด้วยซ้ำ และในความเป็นจริง การค้นพบลิเทียมทำให้อินเดียสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวนมาก อ้าว แล้วรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกไม่ใช่หรือ คำพูดของผู้เชี่ยวชาญตะวันตกดูเหมือนกับเป็นการตีกันอินเดียอย่างไรไม่รู้

มกราคม 2023 ก็มีการค้นพบแหล่งแร่ที่เป็นกลุ่มแร่ธาตุหายากมากกว่า 1 ล้านตันทางตอนเหนือของสวีเดน เมื่อรัฐบาลสวีเดนประกาศออกไป สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯก็ออกมาตีกันเช่นกัน ว่าการสกัดแร่โลหะหายากไม่ใช่เรื่องง่ายและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศที่มีแร่หายาก 8 อันดับของโลก (2022) มีดังนี้ครับ จีน (สำรอง 44 ล้านตัน) เวียดนาม (22 ล้านตัน) บราซิลและรัสเซีย (21 ล้านตัน) อินเดีย (6.9 ล้านตัน) ออสเตรเลีย (4.2 ล้านตัน) สหรัฐฯ (2.3 ล้านตัน) และกรีนแลนด์ (1.5 ล้านตัน).

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com