กลายเป็นประเด็นทางความมั่นคงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์ “บอลลูนสอดแนม” ไปโผล่เหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ บริเวณรัฐมอนทานา ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
จากการตรวจสอบพบว่ามีเส้นทางมาจากจีน ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ตัดผ่านแคนาดาช่วงวันที่ 29 ม.ค. เข้ามาในน่านฟ้าสหรัฐฯช่วงวันที่ 31 ม.ค. อยู่ในระดับความสูง 24-37 กิโลเมตรจากพื้นดิน เหนือจากเพดานบินปกติของเครื่องบินขับไล่ (ราว 20 กิโลเมตร) และเครื่องบินพาณิชย์ (ราว 12 กิโลเมตร)
ล่าสุด บอลลูนดังกล่าวถูกเครื่องบินรบ F–22 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ยิงทำลายไปเรียบร้อย และทางการสหรัฐฯอยู่ระหว่างการเตรียมการเก็บกู้ซากต่อไป ขณะที่ทางการจีนชี้แจงว่า เป็นบอลลูนพลเรือนที่หักเหออกนอกเส้นทาง และขอแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐฯใช้กำลังโจมตีอากาศยานพลเรือน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ความมั่นคงมองว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นการ “ส่งสัญญาณ” มากกว่าจะเป็น “ความผิดพลาดทางเทคนิค” เพราะในขณะที่จีนพยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็ยังต้องคงไว้ซึ่งการแข่งขันแย่งชิงอิทธิพล ด้วยเหตุนี้อะไรจะดีไปกว่าการส่งบอลลูนไร้อาวุธเข้ามาในน่านฟ้าสหรัฐฯ เพื่อดูว่าอเมริกาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นไร
งานนี้เชื่อว่าจีนตั้งใจอยู่แล้ว ที่จะให้สหรัฐฯตรวจพบบอลลูน เพราะเอาเข้าจริงจีนมีวิธีมากมายในการสอดแนมเอาข้อมูลที่ต้องการจากสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องใช้บอลลูนเลยแม้แต่น้อย การส่งบอลลูนยังเป็นการเบ่งกล้ามด้วยว่า ขนาดบอลลูนยังล่วงล้ำเข้ามาได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นเทคโนโลยีอย่างอื่นๆจะขนาดไหน
บอลลูนเป็นอากาศยานที่กองทัพต่างๆใช้กันมายาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะกองทัพญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือสหภาพโซเวียต ในปัจจุบันบอลลูนสามารถติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมที่ทันสมัยอย่างกล้องความละเอียดสูงหรือเรดาร์ตรวจจับ สามารถลอยเหนือเป้าหมายได้เป็นเวลานาน ต่างกับ “ดาวเทียม” ที่ต้องรอเวลาโคจรมาบรรจบเหนือเป้าหมาย อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับโดรนหรือดาวเทียม
...
กลาโหม “เพนตากอน” สหรัฐฯระบุว่า บอลลูนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบินพาณิชย์แต่อย่างใด แต่นักวิเคราะห์เผยด้วยว่า เส้นทางของบอลลูนดังกล่าว อยู่ในบริเวณ “ฐานทัพขีปนาวุธ” ของสหรัฐฯบางแห่ง จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า นี่คือสาเหตุที่ต้องตัดสินใจทำลายทิ้งหรือไม่.
ตุ๊ ปากเกร็ด