มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทที่ปรึกษาและบริหารการเงินและการลงทุนชื่อดังจากสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยส่วนตัวต่อหัวสูงที่สุดในโลก
มอร์แกน สแตนลีย์ ประเมินว่าการใช้จ่ายรวมของชาวเกาหลีใต้สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 24% ในปี 2565 เป็น 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 552,000 ล้านบาท) หรือประมาณ 325 ดอลลาร์ (ราว 10,725 บาท) ต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่าย 55 ดอลลาร์ และ 280 ดอลลาร์ต่อหัวของชาวจีนและชาวอเมริกันตามลำดับ
ขณะที่หลายแบรนด์หรูได้ระบุถึงยอดขายที่แข็งแกร่งในเกาหลีใต้ เช่น มงแคลร์ แฟชั่นหรูสัญชาติอิตาลี ที่กล่าวว่ารายได้ของบริษัทในเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในไตรมาสที่สองเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนบริษัท ริชมอนต์ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ "คาร์เทียร์" กล่าวว่าเกาหลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอดขายเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2563
ในขณะที่ "พราดา" กล่าวว่าการล็อกดาวน์ของจีนส่งผลให้ผลประกอบการค้าปลีกในปี 2565 ลดลง 7% แต่ระบุว่าการลดลงนั้น ถูกทดแทนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในเกาหลีใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ อธิบายว่าความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้ซื้อชาวเกาหลีใต้นั้นได้รับแรงผลักดันจากทั้งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นและความปรารถนาที่จะแสดงสถานะทางสังคมภายนอก
นักวิเคราะห์ระบุในรายงานว่า "รูปลักษณ์ภายนอกและความสำเร็จทางการเงินถือเป็นสิ่งผู้บริโภคในเกาหลีใต้ให้ความสำคัญมากกว่าประเทศอื่นๆ"
จากการสำรวจของ "แมคคินซีย์" บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก พบว่าการแสดงความมั่งคั่งยังเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับของสังคมมากกว่าในสังคมเกาหลี พบว่ามีเพียง 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเกาหลีเท่านั้นที่คิดว่าการแสดงสินค้าฟุ่มเฟือยมีรสนิยมไม่ดี เทียบกับ 45% ของญี่ปุ่นและ 38% ของจีน
...
ความต้องการสินค้าหรูหรายังได้รับแรงหนุนจากความมั่งคั่งในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลของธนาคารแห่งเกาหลีแสดงให้เห็นว่ามูลค่าสุทธิของครัวเรือนในประเทศเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2564 ประมาณ 76% ของความมั่งคั่งในครัวเรือนในเกาหลีอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2563
มอร์แกน สแตนลีย์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าแบรนด์หรูหลายแบรนด์ ได้อาศัยชื่อเสียงของบรรดาไอคอนเกาหลีเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค
รายงานระบุว่า คนดังเกาหลีเกือบทั้งหมดเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์หรูชั้นนำ เช่น "อีมินโฮ" นักแสดงชื่อดัง ที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ "เฟนดิ" หรือ "จี ดราก้อน" กับแบรนด์ "ชาแนล"
เช่นเดียวกับ "ดิออร์" ที่เลือก "โรเซ่" หนึ่งในสมาชิกวง "แบล็กพิงก์" ในการโปรโมตคอลเลกชัน "ฮาร์ดแวร์" ซึ่งดิออร์กล่าวว่า ได้รับการตอบรับดีมากและเพิ่มยอดขายให้กับคอลเลกชันนี้สองเท่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ "เบน แอนด์ โค" (Bain & Co) แนะนำว่าไม่ควรใช้วิธีวัดค่าใช้จ่ายต่อหัว เพราะสินค้าหรูไม่ใช่สินค้าที่คนจำนวนมากใช้ โดยแนะนำให้คิดสัดส่วนการใช้จ่ายทั้งหมดต่อประชากรที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไปแทน เพราะจะสะท้อนทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคได้ดีกว่า และจะลดช่องว่างระหว่างเกาหลีใต้และประเทศอื่น.