- ยุงมีการวิวัฒนาการจนมนุษย์แทบตามไม่ทันแล้ว โดยล่าสุดนักวิจัยพบว่ายุงบางสายพันธุ์วิวัฒนาการความแข็งแกร่ง จนยาฆ่าแมลงก็ทำอะไรมันไม่ได้แล้ว
- สิ่งที่น่ากังวลคือยุงที่สามารถต้านต่อยาฆ่าแมลงได้ ล้วนแล้วแต่เป็นสายพันธุ์ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่มนุษย์ทั้งสิ้น
- งานวิจัยชิ้นนี้ ยังพบว่ายุงที่ทนต่อยาฆ่าแมลงได้ พบมากในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งการค้นพบดังกล่าวทำให้ไทยต้องเตรียมรับมือ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิอากาศแบบเดียวกัน
ยุง แมลงตัวเล็กๆ ที่สามารถสร้างปัญหาใหญ่ไปทั่วโลกจากการเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่คน กำลังสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นให้แก่นักวิจัยทั่วโลก หลังจากที่ผลงานวิจัยล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น พบว่า ยุงส่วนใหญ่กำลังมีวิวัฒนาการ ทำให้มันไร้เทียมทานและไม่สามารถฆ่าให้ตายได้ด้วยยาฆ่าแมลงหรือยาฉีดกำจัดยุงเหมือนเมื่อก่อน
นายชินจิ คาไซ นักวิจัยจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติในญี่ปุ่นได้ศึกษาตัวอย่างยุงในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและกัมพูชาที่พบการระบาดของไข้เลือดออก และพบว่ายุงจากกัมพูชาและเวียดนามเป็นยุงส่วนใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์เป็น "ซุปเปอร์ยุง" ที่ทนทานต่อยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะยาประเภท “Pyrethroid” ซึ่งก็คือยาที่ฉีดยุงตอนหน้าฝนที่เราฉีดกันตามบ้านนั่นเอง
...
โดยในรายงานระบุว่า ยาฆ่าแมลงในการศึกษานั้น สามารถฆ่ายุงได้เพียง 10% หรือบางครั้งก็ไม่สามารถฆ่ามันได้สักตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมาก โดยพบว่า 78% ของยุงลายบ้านมีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า L982W ทำให้พวกมันสามารถต้านยาฆ่ายุงได้มากขึ้น ซึ่งยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรคไข้เหลือง ไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งไวรัสซิกาด้วย ซึ่งแม้การศึกษาครั้งนี้จะพบแค่เพียงในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ แพร่ไปยังประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีนและไทย จึงควรมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบอยู่เสมอว่ายุงในประเทศมีการดื้อยาหรือไม่ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขที่จะต้องรับมือกับโรคติดเชื้อมากขึ้น
คาไซยังระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่ายาฆ่าแมลงที่ใช้ตามปกติอาจไม่ได้ผลกับยุงอีกต่อไปแล้ว หลังจากนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงควรเลือกยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการควบคุมยุง อย่างเช่นการสลับสับเปลี่ยนสารเคมีในยาฆ่าแมลง เพื่อลดการกลายพันธุ์ หรือดื้อยาต่อสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง
การค้นพบครั้งนี้ นับเป็นเรื่องใหญ่ที่น่ากังวลต่อระบบสาธารณสุขและการกำจัดยุง เพราะในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯประมาณการว่ามีคนทั่วโลกเป็นไข้เลือดออกมากถึง 400 ล้านคนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึงราว 21,000 ศพ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนหรือการรักษาได้ ดังนั้นการฉีดพ่นฆ่ายุงจึงเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้ดีที่สุด แต่หากวิธีนี้ยังไม่ได้ผล ก็จะเป็นงานหนักของแพทย์ พยาบาล ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำการบ้านหาวิธีกำจัดยุงที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสู้กับยุงวายร้าย ส่วนประชาชนก็ต้องหาวิธีการป้องกันตัวเองจากยุงเหล่านี้เพื่อเอาชีวิตรอดกันต่อไป.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : Abcnews, Indiatimes, smithsonianmag