การประชุมสุดยอด “อาเซียน” ที่กัมพูชาเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เอาจริงๆแล้วก็ถือว่าถูกบดบังไปมากโข จากการประชุมจี 20 ที่อินโดนีเซีย ต่อด้วยการประชุมเอเปกในประเทศไทย

สายตาส่วนใหญ่จับจ้องไปยัง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน มหาอำนาจสองขั้ว ที่นับวันยิ่งเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆทุกขณะ

แต่แน่นอนในวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ หากสามารถวางตัวได้อย่างเหมาะสม มุ่งเน้นการค้าการลงทุน สร้างบรรยากาศของความ “วิน-วิน” ผลประโยชน์ร่วม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อาเซียนค่อนข้างถนัด เนื่องจากหลักการของอาเซียนเอง ว่าด้วยไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

โดยเนื้อแท้แล้ว การไม่แทรกแซงถือเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ต่างกัน ชีวิตของคนเรา ทำงานร่วมกัน เป็นมิตรที่ดี แต่จะไม่ไปชี้นิ้วสั่งว่าต้องทำอะไรเวลาในบ้านคนใดคนหนึ่งมีปัญหา ยกเว้นแต่เขาจะร้องขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลืออย่างจริงจังในฐานะที่สนิทสนมกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “อินโดนีเซีย” ในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียนลำดับต่อไป จะแสดงบทบาทเช่นไร กระนั้นหากดูจากแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนอาเซียนในปีหน้าแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นไปตามที่กล่าวมาขั้นต้น ข้อมูลจาก น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า “ความสำคัญของอาเซียน : จุดศูนย์กลางการเติบโต” คือธีมหลักของอาเซียนประจำปี 2566

อันมีรายละเอียดประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านตลาดที่เชื่อมโยงและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 2.การเร่งเปลี่ยนผ่านและการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน 3.การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

...

อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถแบบครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าหรือบริการ แพ็กกลุ่มกันแล้ว ถือเป็นตลาดการค้าใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 5 ของโลก ด้านการท่องเที่ยวก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวก็เริ่มหลั่งไหลกลับมาภายในระยะเวลาไม่นาน

คอนเซปต์ศูนย์กลางการเติบโตของอินโดนีเซียจะบรรลุผลได้อย่างแน่นอน ตราบเท่าที่ไม่กระโดดลงไปเป็นหนึ่งใน
ผู้เล่นหรือผู้สนับสนุนในเกมการเมืองโลกที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นในปีนี้และปีหน้า.

ตุ๊ ปากเกร็ด