เครือข่ายดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กำลังจะขยายใหญ่ขึ้น หลังเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (เอฟซีซี) ของสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติคำขอจาก บริษัทสเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ตอนนี้นั่งเป็นนายใหญ่ของหลายบริษัท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา บริษัทสตาร์ตอัพ นิวราลิงก์ ที่พัฒนาไมโครชิปฝังสมอง รวมถึงทวิตเตอร์ อิงก์ โซเชียลมีเดียดังที่เป็นข่าวรายวัน โดยคำขอของสเปซเอ็กซ์ต่อเอฟซีซี ก็คือการเพิ่ม ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) รุ่นต่อไปหรือดาวเทียมเจน 2 (Gen2) เนื่องจากความเร็วของดาวเทียมเจน 1 (Gen1) กำลังลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ
มีข้อมูลเปิดเผยว่าความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดในสหรัฐอเมริกาของสตาร์ลิงก์ลดลงจากอยู่ที่ 105Mbps ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และลดลงอยู่ที่ 53Mbps ในรายงานไตรมาสที่ 3 ปี 2565
สตาร์ลิงก์เป็นโครงข่ายดาวเทียมที่พัฒนาโดยสเปซเอ็กซ์ ปัจจุบันประกอบด้วยดาวเทียมปฏิบัติการมากกว่า 3,200 ดวงกำลังโคจรรอบโลก และให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอด แบนด์แก่ลูกค้าหลายแสนรายบนภาคพื้นดินในหลายสิบประเทศ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาผู้ใช้อุปกรณ์ปลายทางต้องเสียค่าใช้จ่าย 599 ดอลลาร์ฯ หรือราว 2 หมื่นกว่าบาท และเสียค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 3,800 บาท
จริงๆ แล้ว เอฟซีซีได้ชั่งน้ำหนักคำขอของสเปซเอ็กซ์ ที่จะปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์รุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าจำนวน 29,988 ดวงมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ถูกทักท้วงด้วยความกังวลจากหลายหน่วยงาน เช่น องค์การนาซา ของสหรัฐฯ มองว่าการจัดการจราจรและขยะอวกาศจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น เมื่อมีดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรมากขึ้น เพราะปัจจุบันมียานอวกาศปฏิบัติการมากกว่า 5,000 ลำที่โคจรรอบโลก นักดาราศาสตร์หลายรายต่างบ่นว่าดาวเทียมสตาร์ลิงก์ขัดขวางการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและอวกาศ ด้านคู่แข่งที่ให้บริการดาวเทียมคู่แข่งอย่าง บริษัทแอมะซอน (Amazon) และ วันเว็บ (OneWeb) ก็กังวลว่าโครงข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงก์จะนำไปสู่การรบกวนเครือข่ายการสื่อสารที่มีอยู่หรือที่วางแผนไว้
...
ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลของหน่วยงานและผู้ประกอบการรวมถึงคำขอของสตาร์ลิงก์ เอฟซีซีเลย อนุมัติให้ส่งดาวเทียมสตาร์ลิงก์เพียง 7,500 ดวงเท่านั้น ควบคู่ไปกับการตั้งกฎควบคุมหลายข้อในการรายงานต่างๆ เช่น ความเสียหายต่อดาวเทียม การเตือนการชน และความพยายามในการทำให้ดาวเทียมมัวแสงลงเพื่อไม่ให้รบกวนสัญญาณสื่อสารหรืออุปกรณ์อื่นๆ...เป็นการอนุมัติแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นแบบฉบับเอฟซีซี.
ภัค เศารยะ