คงเป็นประเด็นที่โดนใจสื่อชาติตะวันตกอย่างที่สุด สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุความวุ่นวายตามเมืองต่างๆภายในประเทศจีน รวมถึงศูนย์กลางอำนาจอย่าง “ปักกิ่ง”

โดยต้นเหตุเริ่มมาจากเหตุ “ไฟไหม้” อพาร์ตเมนต์ภายในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของมณฑลซินเจียง ถิ่นของชาวอุยกูร์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน บาดเจ็บจำนวนมาก ที่มีการส่งข้อมูลกระจายข่าวกันทางออนไลน์ว่าผู้อาศัยถูกไฟคลอกตายสยอง

หนีออกจากอาคารพักอาศัยไม่ได้ เพราะถูกขัง “ล็อกดาวน์” ไว้ภายในตึกตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อันเข้มงวดของรัฐบาลจีน

แม้ทางการจีนจะชี้แจงว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ขังใครทั้งนั้น แต่มันก็ย้อนแย้งกับข่าวสารทางออนไลน์ที่แพร่สะพัดตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคลิปวิดีโอปรากฏเป็นระยะๆ แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนนำแผงเหล็กมาปิดทางเข้าออกอาคารที่อยู่อาศัยที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ

ไม่รวมถึงการปล่อยข่าวปลอมต่างๆนานาที่แสดงให้เห็นถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้เสียชีวิตและความไม่ใส่ใจต่อชีวิตประชาชน แม้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร แต่การปะติดปะต่อจิ๊กซอว์กันเองของผู้คน ประกอบกับคำชี้แจงของทางการที่ขาด “รายละเอียด” จึงทำให้เชื่อกันไปแล้วว่าที่พูดๆกันนั้นเป็นเรื่องจริง

...

ทั้งหมดเลยนำไปสู่การชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อ “ทางการ” ภายในประเทศจีนที่ไม่มีใครเห็นมานานนับทศวรรษ มีการรวมตัวด่าทอนโยบาย “ซีโร่ โควิด” ลามไปจนถึงประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ทั้งในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเฉิงตู เมืองอู่ฮั่น หรือเมืองกวางโจว ทำเอาผู้สังเกตการณ์ลุ้นระทึกว่า จะซ้ำรอยภาพ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” เหมือนอย่างในอดีตหรือไม่

ขณะที่นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯและยุโรปบางส่วนก็พากันฟันธงไปเลยว่า งานนี้รัฐบาลจีน “เหนื่อย” เพราะการชุมนุมครั้งนี้มีความโดดเด่นคือ 1.กลุ่มผู้ประท้วงกล้าที่จะออกมาท้าทายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาล 2. การชุมนุมเกิดขึ้นหลายเมืองและเล่นกันหลายหน้า คือ ส่วนหนึ่งประท้วงรัฐบาล อีกส่วนประท้วงมาตรการป้องกันโควิด และ 3.ต้นตอไฟไหม้ในอุรุมชี เมืองที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางยังสามารถทำให้คนโมโหโกรธาได้ขนาดนี้ ทั้ง 3 ประการดังกล่าวแสดงให้เห็นหรือไม่ว่า ความไม่พอใจในรัฐบาลจีนเริ่มที่จะระเบิดออกมา

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็สามารถมองได้อีกทางว่า จะเหนื่อยเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะไม่ควรลืมว่ารัฐบาลจีนได้วางรากฐานของ “การควบคุมคน” มาเป็นเวลานานนับทศวรรษและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของชาวจีนนั้นก็มีกลิ่นอายของ “ความมั่นคงภายในประเทศ” ซ่อนเร้นอยู่

1.ประเทศจีนมีอินเตอร์เน็ตระบบปิดจากการตั้งกำแพง “เกรท ไฟร์วอลล์” ป้องกันสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรจากภายนอกเข้ามา “บ่อนทำลาย” คุณงามความดีและคุณค่าของสังคม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่รับข้อมูลข่าวสารทุกอย่างที่เป็นของตะวันตก กำหนดทิศทางได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนควรได้รับรู้อะไร ไม่ควรรับรู้อะไร

2.การใช้ชีวิตในยุคนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “แอปพลิเคชัน” บนสมาร์ทโฟน ซึ่งจีนมีแอปพลิเคชันที่ครอบจักรวาลให้กับประชาชน แอปฯเดียวทำได้ทุกอย่างตั้งแต่การโทรศัพท์ สนทนาข้อความ ส่งรูป ทำงาน จับจ่ายสินค้าและบริการ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินแบบ “สังคมไร้เงินสด” (ถ้ามีโอกาสไปจีนจะพบเห็นว่าบางร้านไม่รับธนบัตรแล้ว และการควักเงินสดออกมาจ่ายอาจถูกพนักงานร้านเหลือบตามอง)

แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็จะรู้หมดทุกอย่าง เพราะปัจจุบันข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตก็คือ “เบาะแส” และ “ร่องรอย” (ดิจิทัล ฟุตปรินต์ : รอยเท้าทางดิจิทัล) สำหรับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเรื่องโลเกชันตำแหน่งที่อยู่และเส้นทางการสัญจร จ่ายเงินวันไหนตอนไหนซื้ออะไร โอนให้ใคร สนทนากับใครพิมพ์ข้อความว่าอะไร

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าวันดีคืนดีทางการตัดสินใจ “ตัดอินเตอร์เน็ต” หรือถูกระงับการใช้งานสัญญาณเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเข้าข่ายเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์แล้วจะเป็นเช่นไร เดินเข้าร้านอาหารหรือไปซื้อกับข้าวแล้วจะจ่ายเงิน
เช่นไร ขึ้นรถโดยสาร-รถแท็กซี่ไปทำงานได้หรือไม่ ทำงานผ่านมือถือก็ไม่ได้เพราะพิมพ์เสร็จแล้วจะส่งอย่างไร

...

แม้ไม่มีคำยืนยันชัดเจนว่าทางการจีนจะสามารถทำแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาหลังการชุมนุมประท้วงคือ รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกว่า ผู้ร่วมการชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทักรายตัว โทรศัพท์สอบปากคำว่าไปอยู่ในที่ชุมนุมทำไม ไปทำอะไรแถวนั้น หรือถึงขั้นมาเคาะประตูหน้าห้องพักในกรณีที่ไม่ได้รับสาย

จึงเป็นที่น่าสนใจและน่าจับตาว่า ความไม่พอใจ (จริงๆ) ของประชาชน เพียงพอที่จะยันกับการควบคุมของรัฐที่แทบจะไร้ช่องโหว่ได้หรือไม่ แต่เอาเข้าจริงแล้วจีนก็สามารถใช้ “ไม้อ่อน-ไม้แข็ง” ผสมผสานกันไป แยกคนต้านนโยบายโควิดกับคนต้านรัฐบาลออกจากกัน โอนอ่อนให้กลุ่มแรกแล้วค่อยดำเนินการแข็งกร้าวกับกลุ่มหลังตามหนักเบา!?

วีรพจน์ อินทรพันธ์