ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันจนเป็นเหมือนแขน-ขา อวัยวะสำคัญในร่างกาย หากขาดไปก็คงอยู่อย่างลำบาก ดังนั้น การขาดแคลน “ชิป” หรือ “เซมิคอนดักเตอร์” ที่เปรียบเสมือน “มันสมอง” ทำงานร่วมกับวัสดุอื่นๆในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน หรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่ยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ จึงทำให้โลกปั่นป่วน

ที่ญี่ปุ่นบริษัทชั้นนำ 8 แห่ง ได้แก่ โซนี่ ซอฟต์แบงก์ โตโยต้า มอเตอร์ เอ็นทีที ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม เอ็นอีซี เดนโซ่ คอร์ป และคีอ็อกเซีย บริษัทผู้ผลิตชิป ร่วมขันลงทุนรายละ 1,000 ล้านเยน หรือราว 255 ล้านบาท โดยมีธนาคารเอ็มยูเอฟจี สถาบันการเงินใหญ่สุดของญี่ปุ่น ลงเงินอีก 300 ล้านเยน หรือราว 76 ล้านบาท เพื่อเปิดบริษัทใหม่ “Rapidus” เพื่อวิจัยและพัฒนาชิปรุ่นใหม่ขนาดจิ๋ว 2 นาโนเมตร สามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยี 5G ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ยานพาหนะไร้คนขับ และเมืองดิจิทัลอัจฉริยะ เชื่อว่าสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและยังตั้งเป้าเริ่มการผลิตภายในปี 2570

นอกจากภาคเอกชนร่วมมือร่วมใจกันแล้ว ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เล็งเห็นว่าเซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญ ช่วยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม อุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ “สังคมดิจิทัล” และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย จึงจัดสรรงบประมาณเตรียมให้เงินอุดหนุนแก่ Rapidus เป็นเงิน 70,000 ล้านเยน (หรือราว 17,870 ล้านบาท) เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถผลิตชิปได้เอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ ขณะเดียวกันยังจะจัดตั้งองค์กร Leading-edge Semiconductor Technology Center ภายในสิ้นปีนี้ โดยร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์รุ่นต่อไป

...

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำการคิดค้นประดิษฐ์เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ปัจจุบันกลับไล่ตามผู้ผลิตอย่างไต้หวันเกาหลีใต้ไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดโลก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถือเป็นความมุ่งมั่นพยายามอย่างไม่ย่อท้อของญี่ปุ่น ก็ต้องคอยลุ้นว่าจะถึงฝั่งดังใจหวังเมื่อไร.

อมรดา พงศ์อุทัย