เอเชียและแปซิฟิกคือภูมิภาคที่อิสราเอลสร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์เรื่อยมา เมืองไทยก็ถือเป็นเพื่อนเก่าแก่ร่วม 70 ปี แต่ชาติอื่นในภูมิภาคนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนใหม่ ซึ่ง นายราฟาเอล ฮาปาซ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เปรยว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน อิสราเอลยังไม่มีความสัมพันธ์กับประเทศในแถบนี้มากนัก แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก อิสราเอลลงนามความร่วมมือการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ และมีความก้าวหน้าในการเจรจาการค้าเสรีกับจีนและเวียดนาม อีกทั้งการเป็นพันธมิตรกับอินเดียก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังกระชับสัมพันธ์ด้านการเงินการลงทุนกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อิสราเอลพร้อมสร้างตัวเองให้เติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง อย่างเช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ นายฮาปาซกล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านต่างอุดมด้วยน้ำมัน แต่อิสราเอลแทบไม่มีอะไรเลย จนกระทั่งอิสราเอลค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกและพบมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและกักตุนได้มากเพียงพอ จนพลิกโฉมจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออก ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี เช่น ส่งออกให้จอร์แดนและอียิปต์ สิ่งนี้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ราว 45,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.7 ล้านบาท

ถ้าก๊าซธรรมชาติเป็นฐานให้อิสราเอลก้าวไปข้างหน้า นวัตกรรมก็เป็นบันไดขึ้นไปสู่อีกระดับ อิสราเอลในเวลานี้คือชาติแห่งนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่เป็นหน้าเป็นตาของชาติ ซึ่งนายฮาปาซชี้ว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองศูนย์กลางทางไซเบอร์และจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติด้านไซเบอร์ อีกทั้งผลักดันให้เป็นเวทีเสวนาระดับนานาชาติและระดับโลก อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังคงเผชิญอุปสรรคอย่างสงครามก่อการร้าย ยิ่งในยุคนี้ที่การก่อการร้ายไร้พรมแดนเป็นปัญหาระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ นายฮาปาซมองว่า โลกควรมีกองกำลังร่วมเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อความสงบสุข

...

สุดท้ายแล้ว เป้าหมายหลักที่อิสราเอลมุ่งหวังคือการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ การทำการเกษตรที่ฉลาดทันสมัย และความมั่นคงด้านสุขภาพ ที่ไม่ได้เก็บไว้ใช้เองในชาติ แต่ต้องการความร่วมมือและแบ่งปันกับชาติอื่น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก นั่นคือภาพที่นายฮาปาซวาดหวังว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้.

อนิตตา ธิดาสิงห์