เป็นที่รู้กันว่าภูมิภาคเอเชียกลางเชื่อมโยงหลายพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายของโฮมินิน (hominin) ซึ่งก็คือสายพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด ที่เดินทางออกจากทวีปแอฟริกาและผ่านไปยังทวีปเอเชีย ทว่าข้อมูลเกี่ยวกับการมาถึงและยึดครองเอเชียกลางช่วงแรกๆของสายพันธุ์มนุษย์ก็ยังมีอยู่เพียงเล็กน้อย เอกสารทางโบราณคดีส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาและหลักฐานด้านบรรพชีวินที่มีรายละเอียดก็หายาก จึงไม่ง่ายที่นักวิจัยจะเข้าใจการกระจายตัวของโฮมินินในช่วงแรกและความเคลื่อนไหวในการยึดครองพื้นที่ในภูมิภาคนั้น

ล่าสุด ทีมวิจัยจากหลายสถาบันนำโดย ดร.เอ็มมา ไฟน์สโตน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำเนิดมนุษย์แห่งพิพิธภัณฑ์
ประวัติศาสตร์ธรรมชาติคลีฟแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา และสถาบันมักซ์ พลังค์ ด้านประวัติศาสตร์มนุษย์ เผยผลวิจัยหลังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในอดีตและด้านโบราณคดีสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) เมื่อราว 2,580,000-11,700 ปีก่อนในเอเชียกลาง รวมถึงการสร้างชุดข้อมูลเครื่องมือหินจากแหล่งโบราณคดียุคหิน 132 แห่ง และวิเคราะห์แหล่งแร่ที่ก่อตัวในถ้ำหินงอกทางตอนใต้ของอุซเบกิสถาน

ทีมวิจัยระบุว่าการสร้างเครื่องมือและการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ ถือเป็นหัวใจสำคัญของความสามารถของมนุษย์ในการอพยพไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อเอาชนะความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ทีมพบว่าบริเวณที่ราบกว้างใหญ่กึ่งแห้งแล้ง และทะเลทรายของเอเชียกลาง เคยเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อโฮมินินและการแพร่กระจายพวกเขาไปยังดินแดนยูเรเซีย เรียกได้ว่าเอเชียกลางเป็นเส้นทางหลักของการอพยพโฮมินินที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย.

...