การออกมาขอโทษประชาชน ยอมรับบริหารประเทศผิดพลาด เพียง 45 วัน ก็สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศอังกฤษมหาศาล และ ขอลาออกจากตำแหน่งนายกฯในที่สุด ของ นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 45 วัน ถือเป็น “บทเรียนสำคัญ” สำหรับประชาชนทั่วโลกและคนไทยในการเลือกผู้นำประเทศ นโยบายหาเสียงประชานิยม ดึงความอยากได้ของประชาชนมาแลกกับคะแนนเสียง ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคนี้จนชินหู “ของฟรีไม่มีในโลก” There is no such thing as a free lunch เมื่อคุณได้ของบางสิ่ง บางอย่างมา คุณก็ต้องจ่ายบางสิ่งบางอย่างไปเป็นการตอบแทน เช่น การไปลงคะแนนให้ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ

นับตั้งแต่คนอังกฤษเลือก นายบอร์ริส จอห์นสัน เป็นนายกฯ การเมืองเศรษฐกิจอังกฤษก็ออกทะเลแบบกู่ไม่กลับ เละเทะทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

เมื่อ นางลิซ ทรัสส์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาล บอร์ริส จอห์นสัน ได้รับเลือกตั้งจากคนในพรรคให้เป็น หัวหน้าพรรค คนใหม่ และ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้คนอังกฤษและพรรคฝ่ายค้านกำลังส่งเสียงค้านอย่างหนักว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง นายกฯอังกฤษต้องได้รับการเลือกตั้งจากคนอังกฤษทั้งประเทศ ไม่ใช่ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมเพียง 100 กว่าคน เลือกกันเอง และ นางทรัสส์ ก็ชูนโยบายหาเสียงด้วยการประกาศตรึงราคาพลังงานและลดภาษีก้อนใหญ่ทันที เพื่อเอาใจคนรวยและเอาใจประชาชน โดยมีความหายนะของอังกฤษรออยู่ข้างหน้า

แผนตรึงราคาพลังงานอย่างเดียว จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นไปกว่า 80% จากสงครามยูเครน นักวิเคราะห์ทำตัวเลขออกมา ครัวเรือนคนรวยจะได้ประโยชน์เฉลี่ยครัวเรือนละ 4,700 ปอนด์ แต่ครัวเรือนชาวบ้านธรรมดาจะได้ประโยชน์เพียงครัวเรือนละ 2,200 ปอนด์ และยังจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ 150,000 ปอนด์ต่อปีขึ้นไป (รายได้ระดับคนรวย) จาก 45% ลงมาเหลือ 40% ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้มหาศาลต้องกู้หนี้ครั้งใหญ่ ในขณะที่ อังกฤษมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงถึง 94.9% ในปัจจุบัน เรียกว่าท่วมคอหอยแล้ว

...

แค่ 3 วันที่ นางทรัสส์ และ นายกวาร์เต็ง รัฐมนตรีคลัง ประกาศแผนลดภาษีเอาใจคนรวย ส่งผลให้ตลาดเงินอังกฤษศูนย์กลางการเงินของโลกปั่นป่วนทันที ค่าเงินปอนด์อังกฤษร่วงลงตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษกันกระหน่ำ จนแบงก์ชาติอังกฤษต้องทุ่มเงิน 65,000 ล้านปอนด์ ซื้อพันธบัตรตัวเอง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนที่มีภาระผ่อนบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทันที สารพัดวิกฤติกระหน่ำอังกฤษในชั่วข้ามคืนจากนโยบายที่ผิดพลาดของ นางทรัสส์ นายกฯ และ นายกวาร์เต็งรัฐมนตรีคลัง ทำให้อังกฤษเซทั้งประเทศ จนพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องออกมาขับไล่

ไม่มีใครคาดคิดว่า สหราชอาณาจักร ประเทศที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน จะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจการเงินขนาดนี้ แม้วันที่เธอประกาศลาออก เธอก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า นโยบาย High–growth Low–tax Economy ของเธอถูกต้องก็ไม่รู้เธอคิดด้วยตรรกะอะไร จีดีพีสูงภาษีตํ่า ก็ได้ภาวนา อย่าให้ประเทศไทยมีนายกฯแบบนี้มาเลย

โลกในวันนี้และในอนาคตเป็นโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงเร็ว นายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศ จึงต้องรอบรู้เรื่องเศรษฐกิจการเงิน เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ มีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จึงจะบริหารประเทศให้เจริญได้

ผมคิดว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เป็นตัวอย่างผู้นำประเทศที่ดีที่สุดคนหนึ่ง การที่คนคนหนึ่ง สามารถผนวก อำนาจเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร มาไว้ในมือเพียงคนเดียว ย่อมไม่ธรรมดา ที่สำคัญ ต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถด้วย จึงจะสามารถบริหารจัดการได้ แค่พูดว่า “สั่งไปแล้วนะจ๊ะ” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”