• ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออก หลังแผนงบประมาณที่รัฐบาลเธอเสนอนั้น สร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดการเงินของประเทศอย่างหนัก

  • สุดท้าย ลิซ ทรัสส์ ต้องปลดรัฐมนตรีคลัง และผู้ที่มารับตำแหน่งแทนอย่าง เจเรมี ฮันต์ ก็ประกาศยกเลิกแผนงบประมาณที่ว่าเกือบทั้งหมด ทำให้เธอเสียหน้าอย่างหนัก

  • ล่าสุดรัฐมนตรีอีกคนของเธอประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเกิดความวุ่นวายที่การลงมติสำคัญในสภา ส.ส.พรรครัฐบาลหลายสิบคนไม่ร่วมโหวต ทำให้เกิดคำถามว่า ลิซ ทรัสส์ จะได้อยู่ในตำแหน่งจนถึงการเลือกตั้ง 2 ปีข้างหน้าหรือไม่

แวดวงการเมืองสหราชอาณาจักรกำลังเกิดดราม่าครั้งใหม่ หลังอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ต้องลาออกไปเมื่อเดือนก่อน จากกรณีอื้อฉาวมากมายรวมถึงการจัดปาร์ตี้ในสำนักงานนายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายต่อหลายครั้ง

ล่าสุด ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งมาแทนนายจอห์นสัน ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออก ทั้งที่ดำรงตำแหน่งมาได้ราวเดือนเศษ หลังนายกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีคลังของเธอประกาศแผนงบประมาณขนาดย่อม หรือ mini-budget ซึ่งรวมถึงการหั่นภาษีมูลค่ารวม 4.5 หมื่นล้านปอนด์โดยไม่มีงบประมาณรองรับ เมื่อ 23 ก.ย. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่การประกาศแผนดังกล่าวกลับทำให้ตลาดภายในประเทศปั่นป่วนอย่างหนักต่อเนื่องหลายวัน ค่าเงินปอนด์ร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลและดอกเบี้ยงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้นายกวาร์เทงโดนปลด ก่อนที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่จะย้อนคืนมาตรการภาษีเกือบทั้งหมด

แม้ลิซ ทรัสส์ จะออกมาขอโทษผ่านสื่อ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำของเธอ ถูกตั้งคำถาม ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมของเธอเองอย่างน้อย 5 คนออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออก แต่นายกฯ หญิงผู้นี้ยังคงยืนยันว่า เธอจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า

...

กวาซี กวาร์เทง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของแผนงบประมาณ mini-budget
กวาซี กวาร์เทง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของแผนงบประมาณ mini-budget

แผนงบประมาณเจ้าปัญหา

แผนงบประมาณขนาดย่อมของนายกวาร์เทงรวมถึง การจำกัดราคาพลังงานสำหรับครัวเรือนและธุรกิจเป็นเวลา 2 ปี ที่ประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยรัฐจะกู้เงินมาใช้อุดหนุนราคาและคาดว่าจะใช้เงินราว 6 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 6 เดือนแรก นอกจากนั้นยังมีแผนยกเลิกการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม และยกเลิกแผนขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

แผนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ น.ส.ทรัสส์เคยหาเสียงเอาไว้และคาดกันไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่นายกวาร์เทงกลับทำมากกว่านั้น ด้วยการประกาศหั่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเร็วขึ้น 1 ปี และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดลง หรือภาษีคนรวยเหลือ 40% จาก 45% รวมมูลค่าภาษีที่ถูกตัดลดทั้งหมดอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านปอนด์

ปัญหาคือการหั่นภาษีจะทำให้รายได้ของรัฐลลดลง และรัฐบาลของ ลิซ ทรัสส์ ตั้งใจจะกู้เงินมาเพื่อใช้ในแผนลดภาษี ไม่รวมแผนจำกัดราคาพลังงาน ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เงินทั้งหมดที่รัฐบาลกู้ในปีนี้จะไปแตะ 1.9 แสนล้านปอนด์ และอาจถึงปีละ 1 แสนล้านปอนด์ตลอด 4 ปีข้างหน้า สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น แผนงบประมาณนี้ยังไม่ได้มาพร้อมกับการประเมินของ สำนักงานความรับผิดชอบด้านงบประมาณ (OBR) ซึ่งจะคอยประเมินแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มหรือลดการเก็บภาษีของรัฐ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพุ่งขึ้นทันทีหลังประกาศแผนเมื่อ 23 ก.ย.

นายกวาร์เทงยังบอกกับสำนักข่าวบีบีซี ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ตลาดปิดว่า ยังมีแผนลดภาษีมากกว่านี้อีก ทำให้ในวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. ค่าเงินปอนด์ดิ่งสู่จุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ที่เพิ่มขึ้น 0.5% ตอนหมดวัน

ธนาคารกลางอังกฤษระบุว่า การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 30 ปี พุ่งขึ้นจากไม่ถึง 1% ไปแตะ 1.8% ภายในเวลาไม่กี่วันหลังประกาศแผน mini-budget เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 30 ปี ของรัฐบาลก็เพิ่มจากราว 3.6% ไปถึง 5% ด้วย

เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่
เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

ปลดขุนคลัง คว่ำแผนหั่นภาษี

ความปั่นป่วนของตลาดการเงินทำให้นายกวาร์เทงต้องกลับลำแผนหั่นภาษีคนรวยของเขาในวันที่ 3 ต.ค. แต่นั่นก็ไม่เพียงพอลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้ในวันที่ 14 ต.ค. ลิซ ทรัสส์ ตัดสินใจปลดนายกวาร์เทง และประกาศจะขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเดิม

ต่อมาในวันที่ 17 ต.ค. ลิซ ทรัสส์ ตัดสินใจแต่งตั้งนายเจเรมี ฮันต์ อดีตคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และได้แต่มองเขาประกาศต่อสาธารณะ ยกเลิกแผนลดภาษีเกือบทั้งหมดใน mini-budget ที่นายกฯ หญิงยืนยันมาตลอดว่า เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวดสำหรับการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจ UK

แต่ที่น่าจะเจ็บปวดที่สุดสำหรับ น.ส.ทรัสส์ก็คือการเปลี่ยนแปลงในแผนจำกัดราคาพลังงานสำหรับธุรกิจและครัวเรือน โดยนายฮันต์ลดระยะเวลาบังคับใช้เหลือเพียง 6 เดือนจากเดิม 2 ปี หลังกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านออกมาโต้แย้งว่า การคุมราคาถึง 2 ปีนั้นนานเกินไป และอาจทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณมากขึ้นหากราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

...

ซูเอลลา เบรเวอร์แมน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ซูเอลลา เบรเวอร์แมน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รัฐมนตรีลาออก ความนิยมตกต่ำ

ผลสำรวจล่าสุดของบริษัท YouGov ชี้ว่า มีชาวสหราชอาณาจักรเพียง 10% เท่านั้นที่ยังให้การยอมรับ น.ส.ทรัสส์ ขณะที่การสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมดิ่งลงเหว จากปัญหาทางการเมืองมากมายตั้งแต่ยุคของเทเรซา เมย์ และนายบอริส จอห์นสัน แต่สิ่งที่สมาชิกพรรคกังวลที่สุดคือ ความเสียหายในระยะยาว เพราะการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปกำลังจะมาถึงในปี 2567

สมาชิกสภาของพรรคอนุรักษนิยมอย่างน้อย 5 คนออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ ลิซ ทรัสส์ ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ ส.ส.บางคนหารือกันเป็นการส่วนตัวว่าจะปลดเธอออกจากตำแหน่งอย่างไร เนื่องจากกฎของพรรคห้ามท้าทายตำแหน่งผู้นำเป็นเวลา 1 ปีหลังรับตำแหน่ง

นอกจากนั้นยังมี ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการ 1922 ของพรรคอนุรักษนิยม ที่คอยดูแลกฎการเลือกผู้นำพรรค โดยหวังว่า หากมี ส.ส.เกินครึ่งบอกประธานคณะกรรมการอย่าง เซอร์ เกรแฮม เบรดี ว่าพวกเขาต้องการให้นายกฯ คนนี้ลาออก จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนแก่ น.ส.ทรัสส์

ล่าสุดในวันพุธ สัญญาณความแตกหักภายในรัฐบาลยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อ น.ส. ซูเอลลา เบรเวอร์แมน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในวันพุธที่ 19 ต.ค. พร้อมโจมตี น.ส.ทรัสส์ว่า “การที่รัฐบาลแสร้งว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดพลาด และหวังว่าอะไรๆ จะกลับไปอยู่ที่ถูกที่ควรอย่างปาฏิหาริย์นั้น ไม่ใช่การเมืองที่จริงจัง”

...

สภาวุ่นวาย โหวตไม่ไว้วางใจ

ในวันพุธที่ 19 ต.ค. ลิซ ทรัสส์ ต้องเผชิญบททดสอบใหม่ในรัฐสภา เมื่อพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลักยื่นญัตติคัดค้านแผนการขุดก๊าซธรรมชาติด้วยวิธี fracking ซึ่งถูกครหาว่าเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิปรัฐบาลระบุว่า การลงมติในเรื่องนี้อาจถูกปฏิบัติเหมือนเป็นการ ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะล่มทันทีหากญัตติผ่าน

ผลการลงมติปรากฏว่า พรรคแรงงานพ่ายแพ้ โดยมี ส.ส.ราว 230 คนเห็นด้วยกับการห้ามการขุดเจาะ ขณะที่ 326 คนไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส่วน 96 คนงดออกเสียง

อย่างไรก็ตาม การลงมติครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนมากมาย โดยก่อนลงมติไม่นาน นายแกรเฮม สจวร์ต รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกลับบอกกับเหล่า ส.ส. ว่า การโหวตนี้ไม่ใช่การลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้นายทิม ฟาร์รอน ส.ส.พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยตั้งคำถามว่า ส.ส.อนุรักษนิยมโหวตโดยไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

ขณะที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า เกิดการล็อบบี้อย่างหนักในหมู่ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ด้วยการขู่ว่าหากไม่โหวตหนุนรัฐบาล พวกเขาจะถูกขับออกจากพรรค และกลายเป็น ส.ส.อิสระ ท่ามกลางข่าวลือว่า นางเวนดี มอร์ตัน และนายคลาก วิตเทกเกอร์ ประธานกับรองประธานวิปรัฐบาลลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่ยังไม่มีการยืนยัน

ในหมู่ ส.ส. 96 คนที่งดออกเสียง มี ส.ส.จากพรรคอนุรักษนิยมถึง 40 คน รวมถึงนางเวนดี มอร์ตัน, อดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์, นายกวาซี กวาร์เทง อดีตรัฐมนตรีคลัง และนางปรีติ พาเทล อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย แม้แต่ตัวลิซ ทรัสส์ เองก็ไม่ได้ร่วมลงมติครั้งนี้ โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ต้องตั้งคำถามแล้วว่า นายกฯ หญิงผู้นี้จะสามารถอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงการเลือกตั้งได้หรือไม่





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : bbc, npraljazeera

...