ศาสตราจารย์ฮีเธอร์ แมคคิลลอป จากมหาวิทยาลัยลุยเซียนา สเตท และเอ แอน์ เอ็ม คอลเลจ ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ชาวมายายุคโบราณต้องใช้เกลือเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต โดยเป็นความจำเป็นทางชีวภาพขั้นพื้นฐาน และเกลือส่วนใหญ่มาจากโรงเกลือตามแนวชายฝั่ง ดังนั้น ทีมวิจัยของเขาจึงเริ่มศึกษาวิธีการจัดระเบียบอุตสาหกรรมที่สำคัญนี้ของชาวมายาโบราณ

ทีมวิจัยเผยว่า ได้ขุดเจาะพื้นที่ Ta’ab Nuk Na ในอุทยานแห่งชาติเพย์นส์ ครีก ทางตอนใต้ของเบลีซ ประเทศขนาดเล็กตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง ริมทะเลแคริบเบียน ซึ่ง Ta’ab Nuk Na ถือเป็นแหล่งผลิตเกลือยุคมายาที่ใหญ่ที่สุดในเบลีซ และก็พบว่ามีโครงสร้างที่อยู่อาศัยอันแสดงให้เห็นว่าเคยมีครัวเรือนอาศัยอยู่และทำงานจมอยู่ใต้น้ำในทะเลสาบริมชายฝั่งของพื้นที่ Ta’ab Nuk Na ช่วงคริสต์ศักราชที่ 600-1,000

ทีมวิจัยระบุว่า พบเสาไม้หลายร้อยเสาที่กำหนดผนังของอาคารไม้ และมุงหลังคาแบบคลาสสิกของชาวมายา ตำแหน่งของสิ่งเหล่านี้ถูกวางแผนเทียบในแบบดิจิทัล ร่วมกับการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีซึ่งเป็นการหาอายุของวัตถุหลายชนิดที่พบ พร้อมเผยว่านอกจากคนโบราณจะพักอาศัยที่นี่ ยังมีกิจกรรมในครัวเรือน เช่น ตกปลา เตรียมอาหาร ทำอาหาร ทำงานไม้ และการปั่นฝ้าย และผลิตเกลือก็ทำกันเองบริโภคเองในบ้าน ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปขายให้ชุมชนอื่นๆ โดยประมาณการว่าชุมชนใน Ta’ab Nuk Na อาจผลิตเกลือได้มากกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และการผลิตที่ Ta’ab Nuk Na หยุดลงหลังจากคริสต์ศักราชที่ 800.

(ลูกปาล์มโคฮุนอายุ 1,500 ปี Credit : C. Foster, Louisiana State University)