เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภูเมื่อวานนี้ สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเราควบคุมปืนไม่ได้ พร้อมเปิดสถิติว่าไทยมีผู้เสียชีวิตเพราะอาวุธปืนสูงเพียงใด
รายงานของ "เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส" ระบุว่า แม้แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ยังคงต้องเป็นที่สอบสวนเชิงลึกต่อไปโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในต่างประเทศเริ่มมีการให้ความสนใจมากขึ้น เกี่ยวกับกฎหมายอาวุธปืน และกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนในไทย
ข้อมูลจากองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนขนาดเล็ก (Small Arms Survey) หรือ SAS ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หากดูสถิติประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนสูงสุด อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 393.3 ล้านกระบอก อันดับ 2 อินเดีย ประมาณ 71.1 ล้านกระบอก อันดับ 3 จีน ประมาณ 49.7 ล้านกระบอก
ขณะที่ประชาชนไทยครอบครองอาวุธปืนขนาดเล็กในปี 2017 เป็นอันดับ 13 ของโลก หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน มีอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคิดเป็นอาวุธปืนขนาดเล็ก 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร ขณะที่ปืนราว 6.2 ล้านกระบอก มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปืนไม่มีทะเบียนราว 6 ล้านกระบอก
แม้อัตราดังกล่าวน้อยกว่าสหรัฐฯ มาก แต่ในเอเชียถือว่า อัตราการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้นของภูมิภาค และทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของตลาดมืดการค้าอาวุธ นอกเหนือจากกัมพูชาและเวียดนาม ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวด โดยผู้ที่ลักลอบครอบครองอาวุธปืน อาจต้องรับโทษจำคุกนานสูงสุด 10 ปี และปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ขณะที่บุคคลซึ่งต้องการรับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน ต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดหลายขั้นตอน
...
ฐานข้อมูลของสถาบันตรวจวัดและประเมินสุขภาพ ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เช่นเดียวกับเว็บไซต์ World Population Review ที่เผยแพร่ ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกประจำปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน
ขณะที่ 5 อันดับแรก ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับที่ 1 บราซิล (มากกว่า 49,000 คน) อันดับ 2 สหรัฐฯ (37,000 คน) 3. เม็กซิโก (22,118 คน ) 4.อินเดีย (14,712 คน) 5.โคลอมเบีย (13,171 คน) ส่วนในอาเซียน ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุด (9,267 คน).