หนึ่งในเหตุผลที่ยากต่อการส่งยาที่มีโปรตีนขนาดใหญ่เข้าทางปาก ก็เพราะยาเหล่านี้ไม่อาจผ่านผนังเมือกที่กั้นทางเดินอาหารได้ ซึ่งหมายความว่าอินซูลิน และยาที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพอื่นๆอย่างยาที่ประกอบด้วยโปรตีนหรือกรดนิวคลีอิก ก็ต้องฉีดเข้าร่างกายหรือต้องไปโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิจัยพยายามคิดค้นวิธีที่จะส่งยาเข้าไปยังเป้าหมายในร่างกาย

ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ ในสหรัฐอเมริกา เผยการพัฒนาแคปซูลใช้ระบบหุ่นยนต์ที่ฝาปิดจะหมุนผ่านอุโมงค์ที่มีผนังเมือกกั้นอยู่ ให้เดินทางไปยังอวัยวะ เช่น ลำไส้เล็ก โดยแคปซูลบรรทุกยาจะผ่านเข้าไปในเซลล์ที่เรียงรายอยู่ในลำไส้ แคปซูลหุ่นยนต์นี้มีชื่อว่า “โรโบแคป” (RoboCap) ขนาดใกล้เคียงกับเม็ดวิตามินรวม ภายในแคปซูลบรรจุยาไว้ในช่องขนาดเล็กที่ปลายด้านหนึ่ง แคปซูลเคลือบด้วยเจลาตินที่สามารถปรับให้ละลายได้ที่ค่าพีเอช (pH) เฉพาะ เมื่อสารเคลือบละลาย การเปลี่ยนแปลงของค่าพีเอช จะกระตุ้นมอเตอร์ขนาดเล็กภายในแคปซูลเพื่อเริ่มหมุน การเคลื่อนไหวนี้ช่วยให้แคปซูลเจาะเข้าไปในเมือกและขับเคลื่อนผ่านออกไป นอกจากนี้แคปซูลยังเคลือบด้วยปุ่มเล็กๆที่ช่วยขจัดเสมหะ คล้ายกับการใช้แปรงสีฟัน อีกทั้งการเคลื่อนที่แบบหมุนยังช่วยแกะช่องที่บรรจุยาให้ค่อยๆปล่อยออกสู่ทางเดินอาหาร

นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าในการทดสอบในสัตว์ สามารถใช้วิธีนี้ในการส่งอินซูลินและยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีเปปไทด์ขนาดใหญ่ซึ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อในวงกว้าง และพบว่า โรโบแคป ส่งยาได้มากกว่าแคปซูลที่คล้ายกันถึง 20-40 เท่า โดยไม่ต้องใช้กลไกในการเจาะ.

(ภาพประกอบ Credit : Traverso lab/MIT and BWH)