เมื่อสายๆวันเสาร์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาตามเวลาตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับช่วง 3-4 ทุ่ม คืนวันเสาร์เช่นกันตามเวลาประเทศไทย ที่มหานครนิวยอร์ก หรือ “นิวยอร์กซิตี้” ได้มีพิธีเปิดถนนสายเล็กๆสายหนึ่งในเขตปกครองควีนส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขตของมหานครที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงโลก”แห่งนี้

ถนนสายเล็กๆและสั้นมาก มีความยาวประมาณตึก 2-3 บล็อกแห่งนี้ ซึ่งดูแล้วก็คงเล็กจริงๆในทัศนะของคนอเมริกัน...แต่สำหรับคนไทยในนิวยอร์กนั้น นี่คือถนนที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของพวกเขา

เพราะนี่คือถนนที่มีชื่อว่า “Little Thailand Way” หรือถนนที่ใช้ชื่อ “ประเทศไทย” เป็นสายแรกของเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา

ซึ่งจะอยู่ระหว่างถนน 77 ตัดกับถนนวู้ดไซด์ในย่านเอล์มเฮิร์สต์ของ เขตปกครองควีนส์ (Queens County หรือ Queens borough)

บริเวณที่เคยเป็นย่านขายสินค้าเอเชีย แต่ต่อมาก็โดนยึดครองโดยคนไทยซึ่งมาเปิดร้าน อาหารไทยหลายๆร้านที่นี่จนได้รับฉายาว่า “ลิตเติล ไทยแลนด์” หรือเมืองไทยจำลองหรือเมืองไทยฉบับย่อจนเป็นที่ติดปากของผู้คนในย่านดังกล่าว

แต่ก็เป็นการ “เรียกขาน” จากปากต่อปากเท่านั้น...จนมาถึงวันนี้ด้วย “ฉันทานุมัติ” จากสภา ของเขตปกครองควีนส์ที่ผ่านกฎหมายยอมรับการติดป้ายชื่ออย่างเป็นทางการที่ หัวถนน เพื่อการย้ำอย่างชัดเจนว่า นี่คือ “Little Thailand Way” ซึ่งจะปักหลักและอยู่ยั้งยืนยงสืบไป ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สมาชิกสภาเขตปกครองควีนส์ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันกฎหมาย ได้แก่ นาย เซการ์ กริซนาน ซึ่งเป็นผู้แทนของย่านนี้โดยตรง เคยให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นไว้ว่า

...

“สำหรับร้านอาหารไทยและร้านธุรกิจไทยๆ ที่นี่ นอกจากจะจำหน่ายขายสินค้าแล้ว นานๆพวกเขาก็จะมีกิจกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยมาแสดงอวดชาวนิวยอร์กอยู่เสมอ”

“นับเป็นความภูมิใจไม่เฉพาะย่านเอล์มเฮิร์สต์หรือบริเวณนี้เท่านั้น...แต่เป็นความภูมิใจของ เขตปกครองควีนส์เราด้วย และก็แน่นอนเป็นความภูมิใจของนิวยอร์กด้วยเช่นกัน...ชื่อ “Little Thailand Way” จึงเป็นชื่อที่เหมาะสมที่สุดสำหรับถนนสายนี้”

สำหรับคนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันมาตลอด ได้แก่ คุณ ยุทธนา ลิ้มเลิศวาที หรือ “หมู นาบอน” อดีตเด็กหนุ่มจากอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไปสู้ชีวิตในนิวยอร์กน่าจะร่วมๆ 40 ปีแล้ว จนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในนิวยอร์กหลายแห่ง

ร้านอาหารไทยในเครือ “Spice” ของเขาเป็นร้านระดับหรู ตกแต่งแบบไทยๆอย่างโดดเด่นอยู่ในย่านแมนฮัตตัน และมีอยู่หนึ่งแห่งอยู่ไม่ไกลจากย่านบรอดเวย์เท่าไรนัก

คุณหมูมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง ท้องถิ่นหลายๆคน ในฐานะที่เขาเองก็เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตด้วยคนหนึ่ง และมองเห็นลู่ทางที่จะผลักดันบางส่วนของย่านเอล์มเฮิร์สต์ ซึ่งมีร้านอาหารไทยและธุรกิจไทยจำนวนหนึ่ง ให้เป็นย่าน “ลิตเติล ไทยแลนด์”

ก่อนหน้านี้เขากับ เพื่อนชาวไทยในนิวยอร์ก ได้ร่วมกันจัดเทศกาล “ไทย” ต่างๆในย่านนี้ หลายครั้ง โดยเฉพาะ “งานสงกรานต์” ซึ่งจะมีการออกร้านขายอาหารไทยริมถนน และการแสดงแบบไทยๆ เช่น นาฏศิลป์ไทย หรือการชกมวยไทย จนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว

เป็นกิจกรรมที่ท่านสมาชิกสภาเขตปกครอง ควีนส์ กริซนาน ชื่นชมและเขียนไว้ในส่วนหนึ่งของคำขอให้สภาควีนส์ออกกฎหมายรับรองในที่สุด

สำหรับพิธีเปิดถนนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ตามโปรแกรมจะมีคนสำคัญขึ้นเวทีปราศรัยหลายคน โดยเฉพาะท่านสมาชิกสภาเขต กริซนาน และตัวคุณยุทธนาเอง

ทันทีที่กล่าวจบจะมีการรัว “กลองสะบัดชัย” สัญลักษณ์ในการสู้รบและการประกาศชัยชนะของพี่น้องชาวเหนือกระหึ่มขึ้นทันที

ในช่วงแรกๆมีข่าวว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งอยู่ระหว่างไปราชการที่นิวยอร์กจะไปร่วมในพิธีเปิดด้วย ซึ่งต่อมาไม่สามารถปลีกตัวมาได้ทันจึงขอปรับใหม่เป็นขอมาเดินชมงานและให้กำลังใจแก่คนไทยที่มาออกร้านต่างๆ พร้อมด้วยการแสดงต่างๆในเวลาประมาณบ่าย 3 หรือ 4 โมงเย็นของวันเดียวกันแทน

คาดว่าจะมีชาวนิวยอร์กไปเที่ยวงานนี้ในจำนวนมากพอสมควร ดังเช่นทุกครั้งที่จัดงานสงกรานต์หรืองานเทศกาลอื่นๆ ณ ถนนสายนี้

เพราะไม่เพียงแต่จะมีโอกาสรับประทาน “อาหารไทย” อร่อยๆริมถนนในราคาไม่แพงนัก เท่านั้น...ยังจะได้ชมการแสดงอันงดงามจากประเทศไทย โดยเฉพาะ “กลองยาว” “รำไทย” และ “มวยไทย” ถือเป็น “ของดี” จากประเทศไทย ที่ถูกใจชาวควีนส์และชาวนิวยอร์กมาโดยตลอด

จากข้อมูลล่าสุดมีรายงานว่า เฉพาะในเขต ปกครองควีนส์มีคนไทยอยู่อาศัยประมาณ 15,000-17,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดถึง 2 ล้านกว่าคน (มากเป็นอันดับ 2) ของเขตทั้ง 5 ในนิวยอร์ก

โดยทั่วไปเขตปกครองควีนส์ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดในบรรดา 5 เขต จะเป็นย่านที่อยู่อาศัย มากกว่า แต่ก็จะมีในบางส่วนเป็นย่านธุรกิจ เช่นย่านเอล์มเฮิร์สต์ เป็นต้น

ควีนส์เป็นที่ตั้งของสนามบินใหญ่ถึง 2 แห่ง คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี กับ ลากวาร์เดีย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ ศูนย์เทนนิสแห่งชาติบิลลี จีน คิง อันเป็นศูนย์กีฬาเทนนิสขนาดใหญ่ใช้เป็นสนามแข่ง “ยูเอสโอเพ่น” หนึ่งใน 4 ของเทนนิสระดับ “แกรนด์สแลม” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

...

สำหรับเขตปกครองหรือ boroughs อื่นๆอีก 4 แห่งของนิวยอร์ก ได้แก่ บรองซ์ (Bronx), บรูคลิน (Brooklyn), แมนฮัตตัน (Manhattan) และ ริชมอนด์ หรือสเตเทนไอแลนด์ (Staten Island)

ทีมงานซอกแซกขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของพี่น้องชาวไทยในนิวยอร์ก ที่นำ “Soft Power” จากประเทศไทยไปประกาศให้ชาวนิวยอร์กได้รับรู้...ขณะเดียวกันก็ขอขอบคุณ พวกเขาเป็นที่สุดที่ไม่เคยลืมบ้านเกิด ไม่เคยลืมประเทศไทยอันเป็นแผ่นดินบิดามารดา มีโอกาสเมื่อใดจะต้องหาทางแสดงออกถึงความเป็น “ไทย” ให้ท้องถิ่นใหม่ที่พวกเขาไปอยู่ได้รับรู้รับทราบอยู่เสมอ

รวมทั้งถนนเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับพวกเราชาวไทย) ที่ชื่อว่า “Little Thailand way” แห่ง Queens County ของมหานครนิวยอร์กที่เพิ่งปักป้ายอย่างเป็นทางการ และมีพิธีเปิดอย่างอลังการไปเมื่อวันวาน

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ สำหรับชาวไทยในนิวยอร์ก (และทุกแห่งหนทั่วโลก) ที่ไม่เคยลืมประเทศไทย.

“ซูม”