การผลัดแผ่นดินย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกหวาดวิตก กังวลต่ออนาคตที่กำลังจะมาถึง และไม่มั่นใจว่าทิศทางหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร

จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมราชวงศ์ สัญลักษณ์ของศูนย์รวมจิตใจของปวงชน จำต้องมีการกำหนดผู้สืบราชบัลลังก์และรัชทายาทไว้อย่างชัดเจน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจ หรือความชอบพอ

หลังการเสด็จสวรรคตของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” แห่งราชวงศ์ “วินด์เซอร์” สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 73 พรรษา ทรงขึ้นครองราชย์โดยอัตโนมัติในฐานะรัชทายาทอันดับหนึ่งด้วยพระนาม “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” ขณะที่ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามกฎหมายการครองราชย์ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ให้ “เจ้าชายวิลเลียม” พระชนมายุ 40 พรรษา กลายเป็นมกุฎราชกุมาร ครองพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์

สืบสายด้วยพระโอรสในเจ้าชายวิลเลียม “เจ้าชายจอร์จ” พระชนมายุ 9 พรรษา พระธิดา “เจ้าหญิงชาร์ลอตต์” พระชนมายุ 7 พรรษา และพระโอรสองค์สุดท้อง “เจ้าชายลูอีส์” พระชนมายุ 4 พรรษา

...

และหากไม่ใช่ 4 พระองค์นี้ บัลลังก์จึงจะตกเป็นของรัชทายาทลำดับที่ 5 “เจ้าชายแฮร์รี” ดยุกแห่งซัสเซกซ์ พระอนุชาของเจ้าชายวิลเลียม ตามด้วย “มาสเตอร์ อาร์ชี” พระโอรสของเจ้าชายแฮร์รี ที่ยังไม่ได้รับฐานันดรศักดิ์เจ้าชาย ซึ่งสื่ออังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากปมฉาว “เมแกน มาร์เคิล” ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ที่ถล่มวังด้วยประเด็น “เหยียดผิว” จนทำให้เจ้าชายแฮร์รีมีปัญหากับวงศ์ตระกูลกลายเป็น “ลูกไม่รักดี”

สำหรับสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 นั้น แม้จะมีพระชนมายุมาก (และเคยติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง) แต่ก็ยังมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เห็นได้จากพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทั้งในกรุงเอดินเบอระ สกอตแลนด์ และกรุงลอนดอน อังกฤษ ที่พระองค์ทรงประกอบพิธีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สามารถทรงพระดำเนินตามพระบรมศพได้อย่างไม่แสดงพระอาการเหน็ดเหนื่อย แม้จะทรงเครื่องแบบกองทัพเต็มยศก็ตามที

ถึงจะยังไม่ได้เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ (ซึ่งมีรายงานข่าวว่า อาจจะมีขึ้นในวันที่ 2 มิ.ย.2566) การขึ้นครองราชย์ของคิงชาร์ลส์ที่ 3 หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ก็ย่อมหมายความว่า พระองค์ทรงหลุดพ้นจากการ ถูก “เขย่าบัลลังก์” ไปแล้ว หลังช่วงปลายรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีกระแสอย่างต่อเนื่องว่า สมควรจะมีการข้ามลำดับ เพื่อให้เจ้าชายวิลเลียมขึ้นครองราชย์ไปเลยหรือไม่

แถมมีรายงานด้วยว่า คนที่ร่วมเขย่านั้นไม่ใช่คนอื่นไกล แต่คือ “เจ้าชายแอนดรูว์” พระอนุชา โดยหนังสือชีวประวัติสมเด็จพระราชินีคามิลลาเล่มใหม่ ของแองเจลา เลวิน นักข่าวสายวังชื่อดัง อ้างว่าดยุกแห่งยอร์กทรงพยายามที่จะล็อบบี้สมเด็จพระราชินีนาถฯ เพื่อให้เจ้าชายวิลเลียมขึ้นครองราชย์แทนคิงชาร์ลส์และพระองค์จะขอดูแลเจ้าชายวิลเลียมในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ถัดจากพระราชบิดามายังพระราชโอรส ด้าน “เจ้าชายวิลเลียม” เจ้าชายแห่งเวลส์นั้น เต็มไปด้วยคำว่าสมบูรณ์แบบ ไม่เคยปรากฏข่าวฉาวด้านลบจากบรรดาสื่ออังกฤษที่ปกติแล้วพร้อมจะแขวะราชวงศ์อยู่ตลอดเวลา ขณะที่พระชายา “แคทเธอรีน” เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็วางตัวดีทุกระเบียบนิ้ว เต็มไปด้วยภาพความงดงาม ความสง่างาม ทั้งยังประสูติเจ้าชายเจ้าหญิงน้อยที่ทรงน่ารักน่าเอ็นดูให้แก่ราชวงศ์จนได้รับพระฉายาว่า “เพอร์เฟกต์เคท”

ขณะที่เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้รับการชื่นชมอย่างล้นหลามในพระราชพิธีพระบรมศพที่ผ่านมาว่าวางตัวได้อย่าง “ไม่มีที่ติ” ถึงจะทรงพระเยาว์ ตั้งใจพระดำเนินตามพระบรมศพในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ รวมถึงโมเมนต์เรียกรอยยิ้ม หลังเจ้าหญิงหันไปบอกพระเชษฐา “พี่ต้องโค้งคำนับนะ” จนทำให้เหล่านักวิเคราะห์เชื่ออย่างสนิทใจว่า ทั้งสองพระองค์จะเป็น พี่น้องที่สนับสนุนเกื้อกูล รวมถึงช่วยตีกรอบให้กันไปตราบนานเท่านาน

...

ด้วยปัจจัยเหล่านี้คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า การสืบราชสมบัติแห่งสหราชอาณาจักรนั้น “ไร้ช่องโหว่” อย่างแท้จริง เพราะถูกล็อกเอาไว้เรียบร้อยว่าใครเป็นใครและในความเป็นจริงแล้ว หากนำรายพระนามและรายชื่อผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์มากางก็จะพบว่า ลำดับสายเลือดนั้นยาวถึง 62 คน พร้อมมีคนมาแทนได้ตลอดเวลา

ในรัชสมัยหลังสมเด็จพระราชินีนาถ “วิคตอเรีย” มหาราช ชื่อราชวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรได้เปลี่ยนแปลงจาก “ราชวงศ์ฮันโนเวอร์” และ “ราชวงศ์ซัคเซิน–โคบวร์กและโกทา” กลายเป็น “ราชวงศ์วินด์เซอร์” เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2460 เพื่อพิทักษ์สถาบันกษัตริย์จากกระแสต่อต้านและเกลียดชังเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไป 105 ปี พระนาม “วินด์เซอร์” ยังคงยืนยงและหากดูจากความทรงเกียรติในเพลานี้ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้นสืบไป.

วีรพจน์ อินทรพันธ์