ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งล่าสุดที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อที่หยิบขึ้นมาอภิปรายคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยนายคาอูเซอา นาตาโน นายกรัฐมนตรีตูวาลู และนายเดวิด คาบูอา ปธน. หมู่เกาะมาร์แชลล์ เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างจริงจังและยั่งยืนเพื่อปกป้องประเทศของตนจากปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและไม่ให้มหาสมุทรกลืนหายไป ซึ่งแค่การถมทะเลหรือสร้างกำแพงกันน้ำไม่สามารถป้องกันปัญหาใหญ่นี้ได้

ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว องค์การด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือไอพีซีซี คาดการณ์ว่าในปี 2643 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น 50-100 ซม. ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้านมลพิษทั่วโลกที่ต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามผลวิจัยล่าสุดนั่นน่ากังวลกว่านั้นหลายเท่า โดยองค์กรระหว่างประเทศด้านสภาพอากาศส่วนพื้นที่บนโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง หรือไอซีซีไอ เปิดเผยว่า หากโลกยังคงปล่อยก๊าซพิษที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง 100 ปี น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 50 ซม. ในปี 2593 จากนั้นสูงขึ้น 2 เมตร ในปี 2643 และสูงขึ้นอีก 5 เมตร ในปี 2693 หมายความว่าโลกกำลังจะจมน้ำ

ด้านเชอร์ริล เทย์ นักวิจัยจากวิทยาลัยสิ่งแวดล้อมและการสำรวจโลก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการจมน้ำเร็วที่สุดในโลก โดยภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2557-2563 เผยให้เห็นว่าบางเมืองมีระดับน้ำหนุนสูงถึง 43 มม. ต่อปี หลายแห่งขุดเจาะน้ำบาดาลมากขึ้น เนื่องจากต้องการน้ำเพิ่มเพราะการขยายตัวของเมือง จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินทรุดตัว โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ในเวียดนามที่มีอัตราการจมน้ำ 16.2 มม.ต่อปี และอาคารสูงระฟ้าผุดขึ้นต่อเนื่องบนดินที่อ่อนตัว ขณะที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย การกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้เมืองจมน้ำเร็วขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นยังทำให้น้ำท่วมรุนแรงจนกระทบต่อการเกษตร อุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค

...

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด การหาทางออกที่ใช่ที่สุดคงเป็นไปได้ยาก นอกจากหาทางป้องกันและเตรียมตัวรับมือ เพราะหากละเลยไม่สนใจ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็จมบาดาลไปแล้ว.

อนิตตา ธิดาสิงห์