• ชาวโลกมีโอกาสเห็นความงดงามแพรวพราวของ ‘มหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท’ ที่มิอาจประเมินค่าได้ ขณะถูกนำมาประดิษฐานเหนือหีบพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดพระราชพิธีพระบรมศพ
  • มงกุฎอิมพีเรียลสเตท องค์นี้ถูกประดับด้วยอัญมณีเกือบ 3 พันชิ้น โดยเฉพาะ เพชร ‘Cullinan II’ ที่เจียระไนมาจากเพชรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากเหมืองในแอฟริกาใต้
  • ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว มหามงกุฎอิมพีเรียลเสตทได้ถูกนำกลับไปตั้งแสดงที่ ‘หอคอยลอนดอน’ ดังเดิม ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากชาวแอฟริกาใต้ ที่ต้องการให้อังกฤษคืนเพชรตระกูล Cullinan กลับไปให้แอฟริกาใต้

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2022 ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยของพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรในอังกฤษ

สำหรับพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในครั้งนี้ ทำให้ชาวโลกได้มีโอกาสเห็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (ของใช้ของกษัตริย์) ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดและมีความงดงามแพรวพราวจับตาต้องใจที่สุด ซึ่งถูกนำมาประดิษฐานเหนือหีบพระบรมศพสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดพระราชพิธีพระบรมศพ นั่นคือ มงกุฎเพชร ‘อิมพีเรียลสเตท’ 

มหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ถือเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร  

สำหรับมหามงกฎอิมพีเรียลสเตทองค์ล่าสุดนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1937 เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 

...

มงกุฎอิมพีเรียลสเตท ประดับด้วยอัญมณีเกือบ 3,000 ชิ้น

ประกายแวววาวระยิบระยับจากมงกุฎอิมพีเรียลสเตทองค์นี้ เกิดจากการร้อยเรียงอัญมณีจำนวนมากเกือบ 3,000 ชิ้นเข้าด้วยกัน อันประกอบด้วยเพชร 2,868 เม็ด ไข่มุก 273 เม็ด แซฟไฟร์พลอยไพลิน 17 เม็ด พลอยมรกต 11 เม็ด และทับทิม 5 เม็ด จึงทำให้มีน้ำหนักสูงถึง 1.06 กิโลกรัมเลยทีเดียว

มงกุฎอิมพีเรียลองค์นี้ ที่มิอาจประเมินค่าได้ สร้างโดยบริษัท การ์ราร์ด แอนด์ โค (Garrard & Co) ที่สร้างลอกแบบมาจากมงกุฎอิมพีเรียลสเตทองค์เดิม ที่สร้างสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และมีน้ำหนักเบากว่า-สวมสบายกว่า เนื่องจากหนักเพียง 910 กรัม

สำหรับอัญมณีล้ำค่าที่สุดที่ประดับมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทองค์ปัจจุบัน คือ เพชรเม็ดใหญ่มากที่มีขนาดเท่ากับหัวใจของมนุษย์ ที่ชื่อว่า เพชร ‘Cullinan II’ (คัลลินัน 2) มีน้ำหนักถึง 317 กะรัต ซึ่งได้มาจากการเจียระไนเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยค้นพบมา ซึ่งมีน้ำหนักถึง 3,106 กะรัต (ก่อนการเจียระไน)

สำหรับเพชร ‘คัลลินัน 2’ ที่ถูกนำมาประดับบนมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทนี้ ถูกพบโดยพนักงานเหมืองในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบอัญมณีสุดล้ำค่านี้เมื่อปี 1905 และตั้งชื่อเพชร ตามชื่อเจ้าของเหมืองคือนายโธมัส คัลลินัน ก่อนที่ทางการแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษจะถวายเป็นของกำนัลแด่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในปี 1907 

ในขณะที่ ไข่มุกจำนวน 4 เม็ดที่ประดับบนมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท มาจากพระกุณฑล (ต่างหู) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 และทับทิมแบล็กพรินซ์ (Black Prince's Ruby) ที่เชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษทรงเคยสวมใส่ที่ยุทธการอาแจ็งคูรต์ (Battle of Agincourt) ซึ่งเป็นยุทธการในสงครามร้อยปี (Hundred Years' War) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1415

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ขณะทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภา เมื่อปี 2003
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ขณะทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภา เมื่อปี 2003

การใช้งานมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท

มงกุฎอิมพีเรียลสเตทเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่กษัตริย์องค์ใหม่ทรงใช้สวมตอนเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์องค์ใหม่เสด็จฯ ออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมงกุฎอิมพีเรียลสเตทเป็นประจำทุกปีในการรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซี โดยได้ตรัสแบบติดตลก ทรงเล่าให้นายอลัสแตร์ บรูซ ผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนักฟังในสารคดี The Coronation ทางช่องบีบีซีวันถึง พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท (Imperial State Crown) ว่า ด้วยความที่พระมหามงกุฎนี้มีน้ำหนักมาก ทำให้เมื่อใดที่พระองค์มีพระราชดำรัสจะต้องทรงยกกระดาษขึ้นอ่าน ไม่สามารถก้มได้ เพราะไม่เช่นนั้น "พระศอ (คอ) อาจหักได้" แต่เคราะห์ดีที่พระองค์และพระราชบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 มีรูปพระเศียรคล้ายกันทำให้พระองค์ทรงพระมหามงกุฎได้อย่างพอดีไม่หลุดร่วงลงมา

...

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ตรัสด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มว่า "แม้จะมีข้อเสียบางอย่าง แต่พระมหามงกุฎนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง" 

มหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ประดิษฐานเหนือหีบพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสวรรคตเมื่อ  8 ก.ย.2002
มหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ประดิษฐานเหนือหีบพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสวรรคตเมื่อ 8 ก.ย.2002

จะเกิดอะไรขึ้นกับมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท? หลังควีนสวรรคต

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา ได้ทำให้ชาวโลกมีโอกาสเห็นความงดงามของมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ที่มิอาจประเมินค่าได้นี้ ถูกนำมาประดิษฐานเหนือหีบพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ห่มคลุมด้วยธงรอยัล สแตนดาร์ด และยังมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีก 2 ชิ้น นั่นคือ พระคทา และพระลูกโลกประดับกางเขน

...

พสกนิกรชาวอังกฤษต่างพากันใจหาย เมื่อพระราชพิธีพระบรมศพมาถึงขั้นตอนสุดท้าย เมื่อมีการปลดมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท พระคทา และพระลูกโลกประดับกางเขนลงจากหีบพระบรมศพ และนำไปวางบนแท่นบูชาในโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ภายในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.

จากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงวางธงของเกรนาเดียร์การ์ด หรือธงหน่วยทหารราบรักษาพระองค์เกรนาเดียของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ลงบนหีบพระบรมศพ และลอร์ดแชมเบอร์เลน สมุหพระราชวังอาวุโสสูงสุด ผู้ถวายงานในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้หักคทาราชสำนักของตน ก่อนจะวางคทาที่หักครึ่งลงบนหีบพระบรมศพ แล้วให้คทานั้นถูกฝังไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์การสิ้นสุดรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ขณะที่ มหามงกุฎอิมพีเรียล ได้ถูกส่งคืนกลับไปตั้งแสดงที่ ‘หอคอยแห่งลอนดอน’ หรือ Tower of London ในกรุงลอนดอน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดดังเดิม

ท่ามกลางเกิดกระแสการทวงคืนเพชรตระกูล Cullinan จากชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งมองว่าอังกฤษครอบครองอัญมณีนี้อย่างมิชอบ โดยมีการเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org เพื่อเรียกร้องให้อังกฤษส่งคืนเพชรคัลลินัน 2 กลับไปยังแอฟริกาใต้เพื่อนำไปตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในแอฟริกาใต้.

...

ที่มา : BBC, Nationnews