หนังสือพิมพ์ไทมส์ของอังกฤษ รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 กันยายน ว่า นางริซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ เตรียมยกเลิกภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มอัดลม และจ่อล้มเลิกมาตรการควบคุมโรคอ้วนบางประการ เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพอังกฤษที่สูงขึ้น

เดอะไทมส์ ระบุเพิ่มเติมว่า นายควาซี ควาเทง รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ได้สั่งการเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้พิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมโรคอ้วน ซึ่งเป็นท่าทีที่มีความเป็นไปได้ว่ามาตรการควบคุมส่วนใหญ่ดังกล่าวอาจถูกยกเลิก รวมถึงการห้ามจัดโปรโมชัน "ซื้อ 1 แถม 1" ของอาหารกลุ่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพของรัฐบาลที่ล่าช้าออกไปก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ก็มีท่าทีว่าจะไม่ได้ไปต่อ เช่นเดียวกับการห้ามวางแสดงสินค้าประเภทลูกอมและช็อกโกแลตบริเวณจุดชำระเงิน ซึ่งจะมีการบังคับใช้เดือนหน้า ก็ไม่แน่ว่าอาจจะไม่ได้ไปต่อเช่นกัน

ในการสัมภาษณ์กับเดลี่เมลเมื่อเดือนสิงหาคม นางทรัสส์ กล่าวว่า เธอจะยกเลิกแผนการห้ามขายดีลลดราคาของสินค้าที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง และจะไม่เรียกเก็บภาษีใหม่ต่ออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ การเก็บภาษีน้ำตาลได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อพฤติกรรมการบริโภค อย่างไรก็ตามจากรายงานของเดอะการ์เดียน ที่ผ่านมากระทรวงต่างๆ ได้สั่งให้มีการทบทวนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการลดพฤติกรรมการรับประทานอาหารขยะของประชาชน ซึ่งอาจปูทางไปสู่การจำกัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ก่อนเวลา 21.00 น.

...

ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การยกเลิกภาษีน้ำตาลจะแสดงให้เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลในฐานะ "รัฐพี่เลี้ยง" ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายชนะเสมอไป และชาวอังกฤษสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ถูกกำหนดด้วยข้อจำกัดต่างๆ แม้อัตราผู้ป่วยโรคอ้วนในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่การเก็บภาษีกลับไม่ได้ทำให้ยอดขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง ซึ่งรวมถึงจำนวนแคลอรีที่บริโภคในแต่ละวัน และโรคอ้วนที่ไม่ลดลงเช่นกัน

รายงานของวารสารการแพทย์ BMJ เมื่อปี 2021 ชี้ว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลโดยรวมมีจำนวนลดลงหนึ่งปีหลังจากมีการเก็บภาษีน้ำตาล แต่ยอดขายโดยรวมของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลกลับไม่ลดลงแต่อย่างใด.