“จุรินทร์” เผยผลสำเร็จประชุม JTC ไทย-มองโกเลีย ได้ข้อสรุป 5 ข้อหลัก อาทิ ตั้งเป้าหมาย ทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน เชิญนักธุรกิจนักลงทุนมาร่วมชม 3 งานแสดงสินค้าสำคัญในไทย แหล่งใหม่ส่งออกอาหารไปมองโกเลีย ขณะที่มองโกเลียจะเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบสำคัญให้ รวมทั้งเปิดเส้นทางบินตรงมองโกเลีย-ภูเก็ต ให้ชาวมองโกเลียหนีหนาวมาเที่ยวทะเลไทย ลั่นเป็นการนับหนึ่งเพื่ออนาคตตลาดใหม่สินค้าไทย

รมว.พาณิชย์เผยผลสำเร็จประชุม JTC ไทย-มองโกเลีย เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงผลภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม ทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 กับนางบัตต์เซตเสก บัตมุนห์ รมว.ต่างประเทศ มองโกเลีย มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะร่วมประชุม ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย

นายจุรินทร์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลีย ที่เรียกว่าการประชุม JTC เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยและมองโกเลีย ปีนี้เป็นปีแรกที่มองโกเลียเป็นเจ้าภาพ และตนเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุม ครั้งต่อไปประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุป 5 ข้อหลัก คือ 1.ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายทางการค้าและการลงทุนร่วมกันในปี 2027 ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป้าหมายทางการค้า จะทำตัวเลขการค้าใน 5 ปี ให้ได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป้าหมายการลงทุน ตั้งเป้า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนอยู่ที่ 1,034 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

...

รมว.พาณิชย์กล่าวต่อว่า ข้อ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ถือโอกาสเชิญมองโกเลียประสานกับผู้นำเข้า นักธุรกิจ นักลงทุนมองโกเลีย มาร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญในประเทศไทย 3 งาน งานแรก งาน STYLE Bangkok วันที่ 22-26 มี.ค.66 งานที่ 2 คือ THAIFEX-Anuga Asia วันที่ 23-27 พ.ค.66 และงานที่ 3 งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair จัดขึ้นใน ก.ย.66 กระทรวงพาณิชย์จะช่วยประสานจัดให้มีการพบปะเจรจาระหว่างหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของมองโกเลียกับนักลงทุนจากประเทศไทย 3.ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตหรือส่งออกอาหารให้กับมองโกเลีย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร สินค้าที่ไทยจะส่งออกไปมองโกเลีย ประกอบด้วย ไก่แช่เย็น-แช่แข็ง อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้สด ผลไม้กระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว และมองโกเลียจะเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบสำคัญให้กับประเทศไทย เช่น สินแร่ หนังสัตว์ และผ้าแคชเมียร์ เป็นต้น

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ข้อ 4 ทั้งสองฝ่ายจะจัดให้มีความร่วมมือในสาขาที่สนใจร่วมกันต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อาหาร การท่องเที่ยวรวมถึงโลจิสติกส์ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อำนวยความสะดวกมองโกเลียต่อไป และ 5 การส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายตกลงจะทำความตกลงและคุ้มครองการลงทุนของทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายไทยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพ และเดินหน้าทำอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันได้เป็นอย่างดี ประการสุดท้ายมองโกเลียสนใจเปิดเที่ยวบินตรง อูลานบาตอร์เมืองหลวงของมองโกเลียไปภูเก็ต ส่งเสริมการท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวมองโกเลียในช่วงฤดูหนาว ขณะนี้สายการบิน Mongolian Airlines แจ้งความจำนงไปประเทศไทย และกระทรวง พาณิชย์ประสานงานกับสถาบันการบินพลเรือนจะเร่งพิจารณาคำขอนี้ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ คาดว่า Mongolian Airlines จะพานักท่องเที่ยวบินตรงไปภูเก็ตได้

“มองโกเลียถือเป็นตลาดใหม่ สำหรับอาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวมองโกเลีย อาจต้องใช้เวลาการเดินทางเที่ยวนี้เป็นการนับหนึ่งไม่ใช่ให้กับปัจจุบันเท่านั้น แต่นับหนึ่งให้กับอนาคตตลาดใหม่ของสินค้าไทย อนาคตโอกาสนี้มีมาก เพียงแต่ตอนนี้ตัวเลขยังมีน้อย ถ้าเราไม่นับหนึ่งวันนี้จะมี 2 3 4 วันหน้าได้อย่างไร” นายจุรินทร์กล่าว