จีนประกาศเตือนภัยแล้งรุนแรงระดับสีส้ม รองสูงสุด พื้นที่ถึงครึ่งประเทศประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงจากภาวะ ‘โลกรวน’ คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมประเทศยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างรุนแรง เท่าที่มีการบันทึกในรอบ 61 ปี
สำนักข่าวซินหัวรายงาน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน (NMC) ประกาศแจ้งเตือนภัยแล้งระดับสีส้ม ขณะคลื่นความร้อนยังคงแผ่ปกคลุมหลายภูมิภาคของประเทศ เมื่อวันศุกร์ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบบแจ้งเตือนภัยสภาพอากาศของจีนแบ่งเป็น 4 รหัส 4 สี โดยสีแดงหมายถึงมีความรุนแรงมากที่สุด ตามด้วยสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงิน
...
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน เผยว่าพื้นที่บางส่วนของมณฑลเจียงซู, อันฮุย, เหอหนาน, หูเป่ย, เจ้อเจียง, ฝูเจี้ยน, เจียงซี, หูหนาน, กุ้ยโจว, ฉงชิ่ง, ซื่อชวน (เสฉวน) ส่านซี, กานซู่ และทิเบต (ซีจ้าง) กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งระดับปานกลางถึงรุนแรง
อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าฝนตกระดับปานกลางถึงหนักจะบรรเทาภัยแล้งในบางพื้นที่ของเหอหนาน อันฮุย เจียงซู หูเป่ย เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน ซื่อชวน และลุ่มน้ำซื่อชวนในช่วงสามวันข้างหน้า ส่วนภูมิภาคอื่นๆ จะยังคงมีอุณหภูมิสูงและสภาพอากาศแห้งแล้ง
ในขณะที่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีนได้แนะนำหน่วยงานท้องถิ่นใช้แหล่งน้ำฉุกเฉินและกระจายทรัพยากรน้ำที่มีภายในภูมิภาคเพื่อรับประกันการจัดสรรน้ำ โดยเฉพาะสำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง เขตชนบท และปศุสัตว์ พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างเข้มงวดและการผลิตฝนเทียมยามจำเป็น
ด้านกระทรวงการคลังของจีนได้จัดสรรเงินกองทุนสำรองส่วนกลาง จำนวน 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.27 หมื่นล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการบรรเทาภัยแล้งและการผลิตธัญพืชช่วงฤดูใบไม้ร่วง
รายงานระบุว่า เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง ราว 6.5 พันล้านหยวน (ราว 3.42 หมื่นล้านบาท) จะถูกใช้กับการอนุรักษ์น้ำและบรรเทาภัยแล้ง เพื่อรับประกันว่าประชาชนมีน้ำดื่มและน้ำเพื่อการชลประทานทางการเกษตรเพียงพอ
เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง อีก 3.5 พันล้านหยวน (ราว 1.84 หมื่นล้านบาท) จะถูกใช้กับการผลิตธัญพืชช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมุ่งสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถซื้อเชื้อเพลิง ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูการผลิต รวมถึงสารเคมีที่สามารถช่วยพืชผลทนแล้ง
กระทรวงการคลังของจีนได้กระตุ้นรัฐบาลท้องถิ่นแจกจ่ายเงินกองทุนสำรองส่วนกลาง ที่ได้รับอย่างทันท่วงที จัดการเงินกองทุนฯ อย่างละเอียดรอบคอบ และดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาภัยแล้งและการผลิตธัญพืชอย่างเหมาะสม