นับตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มีการเกิดขึ้นของขยะของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) หรือที่เรียกว่าชุดพีพีอี คือชุดคลุมป้องกัน หน้ากาก และถุงมือยาง ที่บุคคลใช้สวมใส่ปกปิดร่างกายเพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งโดยเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละวันมีการทิ้งขยะพีพีอีถึง 54 ล้านกิโลกรัม ขณะที่หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งประมาณ 129,000 ล้านชิ้นทั่วโลก ที่น่าคิดคือขยะเหล่านี้จะทำลายอย่างไร หรือสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบไหนได้บ้าง

ล่าสุด นักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรอยัล เมลเบิร์น ในออสเตรเลีย นำโดยแชนนอน คิลมาร์ติน-ลินช์ เผยว่า ได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับความท้าทายในการจัดการกับขยะด้านการดูแลสุขภาพเหล่านี้ โดยร่วมงานกับพันธมิตรคือบริษัท Casafico Pty ซึ่งการวิจัยของทีมพบว่า การใช้พีพีอีหั่นฝอยในปริมาณที่เหมาะสมสามารถปรับปรุงความแข็งแรงและความทนทานต่อการแตกร้าวของคอนกรีตได้ โดยแจกแจงว่าได้ศึกษาความเป็นไปได้ 3 แบบแยกจากกัน ขั้นแรกให้นำหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ถุงมือยาง และเสื้อคลุมแยกออกก่อน จากนั้นจึงรวมเข้ากับคอนกรีตในปริมาณต่างๆระหว่าง 0.1-0.25% ผลการวิจัยพบว่าถุงมือยางเพิ่มกำลังรับแรงอัดได้ถึง 22% ขณะที่เสื้อคลุมแบบแยกส่วนเพิ่มความต้านทานการดัดงอได้ถึง 21% กำลังรับแรงอัด 15% และความยืดหยุ่น 12% ส่วนหน้ากากสามารถเพิ่มแรงอัดได้ถึง 17%

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปสำหรับการวิจัยคือการประเมินศักยภาพในการผสมผสานพีพีอี และพัฒนากลยุทธ์การนำไปปฏิบัติจริง รวมถึงทดสอบทางภาคสนามต่อไป.

Credit : RMT University