3 เดือนแล้ว ที่ผมตระเวนตรวจภัตตาคารไทยเฟยไท่ชาน สาขากุ้ยหลิน ฉางซา อู่ฮั่น หนานหนิง ซัวเถา และเปิดร้านขนมหวานไทยชูไท่หลิง (นิทานหิ่งห้อย) ที่ฉางซา ขณะกำลังเขียนคอลัมน์ ผมอยู่ที่ปักกิ่งและเทียนจิน เพื่อเตรียมเปิดร้านขนมหวานไทยใน 2 มหานคร
ความเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ผมได้รับข้อมูลของสินค้าเกษตรไทยที่ส่งมาขายในจีนมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่มีสารกำจัดแมลงและศัตรูพืชตกค้าง
สมัยก่อน ศุลกากรจีนไม่ตรวจอย่างเข้มงวดมาก ทว่าตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด รัฐบาลจีนระวังเรื่องความปลอดภัยของอาหารและแมลง ไร สัตว์ ศัตรูพืช ที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรนำเข้า ทราบว่ามีสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมากติดค้างอยู่ตามด่านชายแดนและตามท่าเรือ นำหายนะมาสู่ธุรกิจการส่งสินค้าเกษตรและอาหารไทยมาจีนมากพอสมควร
เพื่อแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของกลุ่มธุรกิจของเราที่นำเข้ามาจีน เราจึงต้องแนะนำเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งให้เรา บริษัทของผมเริ่มจากการส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมและสอบใบอนุญาตผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วัตถุประสงค์ของพวกเรา ไม่ได้ต้องการเปิดร้านขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร แต่เราต้องการความรู้ไปแนะนำเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรได้ถูกต้องตามมาตรฐานที่จะเข้าตลาดจีน
เราติดตามข่าวสารการเกษตรไทย โดยเฉพาะจากหน่วยงานด่านหน้าอย่างกรมวิชาการเกษตร โชคดีที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เคยเป็นทูตเกษตรอยู่ทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯรวมกันแล้วนานถึง 10 ปี ทัศนคติและการปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบันจึงทันโลก หลังจากอ่านคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน ผมเชื่อว่าเราสามารถเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรแถวหน้าที่ผลิตสินค้าได้คุณภาพตามมาตรฐานโลกได้อย่างแน่นอน ถ้าทุกคนและทุกหน่วยงานร่วมมือกันปฏิบัติอย่างที่อธิบดีพูด
...
พ.ศ.2565 เป็นปีที่เราน่าจะยกระดับการผลิตอาหารให้โลกได้ดีที่สุด เพราะเป็นปีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปกและการประชุมอื่นๆ กับอีกหลายหน่วยงาน เช่น PPFS (หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร) ATCWG (ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้วกับนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (B หมายถึง Bio Economy ‘เศรษฐกิจชีวภาพ’ C หมายถึง Circular Economy ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ และ G หมายถึง Green Economy ‘เศรษฐกิจสีเขียว’)
อยากให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอรรถาธิบายขยายความให้เกษตรกรไทยได้เข้าใจโมเดลเศรษฐกิจ BCG เราจะได้ร่วมมือกันใช้โมเดลเศรษฐกิจนี้ดันประเทศไทยให้ไปยืนอยู่ในแถวหน้าของโลกในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำย่ำแย่ ด้วยที่ตั้งของไทยและด้วยองค์ความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ผมว่าเราสามารถยกระดับสินค้าเกษตรไทยและอาหารไทยให้ไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างามอย่างแน่นอน
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอธิบดีฯ ให้สัมภาษณ์ และผมเห็นว่าเป็นการปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหารที่มาถูกทาง คือการปฏิรูปฯ ด้วยนโยบาย 3-S (S ตัวแรกคือ Safety ความปลอดภัย S ตัวที่สองคือ Security ความมั่นคง และ S ตัวที่สามคือ Sustainability ความยั่งยืน)
ตอนที่พวกผมมาลงหลักปักฐานทำธุรกิจที่เมืองจีนใหม่ๆ คนจีนสนใจผลไม้และอาหารไทยแค่ขอให้มีบริโภค แพงแค่ไหนก็ซื้อ โดยไม่สนใจความปลอดภัย แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้วครับ นอกจากราชการจีนเข้มงวดตรวจตรามากขึ้น ประชาชนคนบริโภคก็มีความรู้มากขึ้น (จากโซเชียลมีเดีย) ความสนใจในความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องแรก คุณภาพเป็นเรื่องที่สอง ตามด้วยเรื่องของราคา
เมื่อความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องแรก เราจึงต้องย้อนกลับไปที่ผู้ผลิต ถ้าต้นน้ำปลอดภัย ปลายน้ำก็ปลอดภัยครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com