ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวที่ทำให้ไม่สบายใจ โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯกับไต้หวัน จากการที่คุณแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวัน ทั้งๆที่จีนเขาบอกแล้วว่าอย่าไป เพราะเขารู้สึกไม่สบายใจ

แต่คุณเพโลซีก็ยังแวะไปจนได้ เป็นเหตุให้รัฐบาลจีนต้องแสดงความไม่พอใจด้วยการจัดซ้อมรบด้วยกระสุนจริงๆเสีย 4-5 วัน อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ในทางการเมืองโลกจะไม่ค่อยดีนักแต่ก็ปรากฏว่าสำหรับทางด้านเศรษฐกิจนั้นสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะเป็นสัปดาห์ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รู้สึกเบาใจไปเปลาะหนึ่ง

ได้แก่ข่าวที่ว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่รุนแรงมากในรอบกว่า 40 ปี ของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่า มาถึงจุด “พีก” แล้วน่าจะค่อยๆผ่อนลงได้ในเดือนหน้าเดือนโน้น หลังมีการใช้มาตรการเพิ่มเติมบางประการ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี่เอง กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเปิดเผยตัวเลข CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องเงินเฟ้อที่สำคัญที่สุด ออกมาว่าแม้ดัชนีดังกล่าวจะยังเพิ่มถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบแบบปีต่อปี

แต่เจ้าตัวเลขที่ออกมานี้ก็ยังต่ำกว่าร้อยละ 8.7 ที่นักวิเคราะห์เคยคาดหมายไว้ล่วงหน้า

ขณะเดียวกัน หากเทียบแบบเดือนต่อเดือน คือเอาเดือนมิถุนายนกับกรกฎาคมมาเทียบกันก็ปรากฏว่า เดือนกรกฎาคม “ทรงตัว” คือ 0.0 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับที่คาดว่าจะเพิ่ม 0.2 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้

ยิ่งไปดูตัว CPI พื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ก็พบว่าเพิ่มขึ้น 5.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับปีกลาย ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหมายว่าจะเพิ่ม 6.1 เปอร์เซ็นต์ และหากเทียบแบบเดือนต่อเดือน ก็จะเพิ่มแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ที่คาดไว้

...

แปลว่า “อัตราเงินเฟ้อ” เริ่มชะลอตัวลงหรือลดความรุนแรงลง และน่าจะผ่านจุดสูงสุดหรือรุนแรงที่สุดไปแล้วจากตัวเลขที่ปรากฏ

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองออกไปข้างหน้าว่าในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับอัตราดอกเบี้ยอีกหนนั้น...อาจไม่ต้องใช้ยาแรงถึงร้อยละ 0.75 อย่างที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าก็เป็นได้

เพราะปรับขึ้นแค่ 0.50 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะพอเพียง...

ครับ! ผมก็ขออนุญาตคัดลอกมาลงอย่างค่อนข้างละเอียด เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข่าวที่ผมมองว่าเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

แสดงให้เห็นว่า มาตรการเหยียบเบรกด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางสหรัฐฯได้ผลพอสมควร และหากจะต้องเหยียบอีกหนหรือฉีดยาอีกเข็ม ก็อาจไม่ต้องใช้ยาที่แรงเท่าเดิม ก็น่าจะเอาอยู่แล้ว สำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงตลอด และลดเยอะพอสมควรกว่า 14 เปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีการผกผันกลับมาขึ้นบ้าง แต่ก็ราวๆ 3 หรือ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น...หักลบแล้ว ราคาที่ลดไปยังเยอะกว่ามาก ซึ่งจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง

ผมก็ภาวนาขอให้มาตรการเยียวยาของธนาคารกลางสหรัฐฯ จงประสบผลสำเร็จดังที่ทุกฝ่ายปรารถนา และดังที่ข้อมูลต่างๆเริ่มฉายแวว ให้เห็นดังกล่าวข้างต้น

เพราะเมื่อหยุดเงินเฟ้อได้ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะง่ายขึ้น...อาจจะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ผู้คนตกงานบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้จะแก้ง่ายกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งไปจนหยุดไม่อยู่

ผมก็หวังว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเพราะโควิด-19 แล้วมาโดนซ้ำเติมจากการทำสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่บานปลายเป็นรัสเซีย ยุโรป+สหรัฐฯครั้งนี้ จะฟื้นกลับมาได้ในที่สุด

โดยอาศัยยา 2 ขนานคู่กัน คือตัวยาทางเศรษฐกิจและตัวยาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ...โดยเฉพาะยาประการหลัง...หากคู่กัดทั้งหลายหันมาคืนดีกันได้...ยุติการทำสงครามและการบอยคอต...หันมาค้าขายกันเหมือนเดิม รักใคร่กันตามเดิม รับรองเศรษฐกิจโลกจะกลับมาวิ่งฉิวปลิวลมแน่นอน

แต่ก็อย่างว่า “ยาตัวหลัง” เห็นทีจะเกิดขึ้นยาก เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีโลภ โกรธ หลง...หลงอำนาจ หลงศักดิ์ศรีตัวเอง สงครามก็ยากที่จะสงบลง...ตัวถ่วงไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นก็อยู่ที่ “สงคราม” นี่แหละครับ.

“ซูม”