เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลก

ผมชอบอ่านนิยายสมัยเก่าที่พวกยุโรปเดินทางไปแสวงหาอาณานิคมในทวีปแอฟริกา มุมหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้นก็คือได้เห็นความโหดร้ายของคนยุโรป ที่ไม่ได้คิดว่ามนุษย์แอฟริกันมีความเท่าเทียมกับตน อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่เคยยึดลัทธิจักรวรรดินิยมและขยายอำนาจเข้าไปในทวีปแอฟริกา การแสวงหาอาณานิคมทำให้อิตาลีขัดแย้งกับฝรั่งเศสและถูกฝรั่งเศสกีดกันไม่ให้ยึดครองตูนิเซีย อิตาลีจึงต้องดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และร่วมลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคีกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี

สนธิสัญญานี้ละครับ เป็นการแบ่งค่ายที่สำคัญของมหาอำนาจยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อได้ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคีแล้ว พวกอิตาลีก็มีนโยบายที่จะสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่ในแอฟริกา และสามารถสถาปนาอำนาจอารักขาดินแดนโซมาลี อิตาลีเข้าไปยึดครองแคว้นเอริเทรียที่อยู่บนฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา จนเกิดสงครามอะบิสซีเนีย

ค.ศ.1953 หรือเมื่อ 69 ปีที่แล้ว อะบิสซีเนียเปลี่ยนชื่อเป็นเอธิโอเปีย ใครจะเชื่อครับว่าประเทศตะวันตกอย่างอิตาลีเมื่อไปรบกับชนเผ่าแอฟริกาในอะบิสซีเนียจะพ่ายแพ้หมดรูป เป็นการสูญเสียเกียรติภูมิของพวกฝรั่งมังค่า สถานะของอิตาลีแย่ลงขนาดไม่ค่อยอยากมีใครคบค้าสมาคม ภาพลักษณ์ของประเทศกระทบถึงภาพลักษณ์ของสินค้าสินค้าทางการเกษตรของอิตาลีไม่สามารถส่งไปขายในต่างประเทศได้

เมื่ออยู่ในประเทศที่ภาพลักษณ์ตกต่ำย่ำแย่ไม่ไหว ชาวไร่ชาวสวนอิตาลีจึงอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯมากถึงปีละ 5 แสนคน ต่อมาอิตาลีรบกับตุรกีเพื่อหาที่ดินเปล่าใช้ในการเพาะปลูกในตริโปลีหรือลิเบีย ตุรกีแพ้ เกียรติภูมิของอิตาลีที่เคยแพ้สงครามกับอะบิสซีเนีย (เอธิโอเปีย) ก็จึงกลับมา ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีร่วมกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เมื่อพวกนี้ชนะ อิตาลีก็ชนะด้วย และได้รับการยกย่องให้เป็น 4 มหาอำนาจ (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี)

...

ต่อมาอิตาลีโดนสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสหักหลัง ไม่ให้ได้รับดินแดนตามข้อตกลงในสนธิสัญญาลอนดอน ว่าถ้าช่วยกันรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนชนะแล้ว อิตาลีจะได้ดินแดนเพิ่มบานเบอะเยอะแยะ เมื่อโดนหักหลัง ทั้งประชาชนและรัฐบาลอิตาลีก็โกรธ ทำให้รัฐบาลและคนอิตาลีหันไปหาลัทธิฟาสซิสต์ รวมพลังกันเพื่อเน้นลัทธิชาตินิยมในการที่จะกอบกู้สถานภาพและศักดิ์ศรีของอิตาลีที่เสียไปในเวทีโลกคืนมา มุสโสลีนีก็โผล่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในช่วงนี้

มุสโสลีนีไปร่วมมือกับฮิตเลอร์ทำสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบจบลง อิตาลีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องถูกลดกำลังอาวุธ ถูกควบคุมทางทหาร สูญเสียดินแดน ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากให้โซเวียต

ต่อมา การเมืองอิตาลีก็ค่อยๆ แข็งแรงขึ้น พรรคคริสเตียนประชาธิปไตยคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างยาวนาน ประชาชนคนอิตาลีร้อยละ 54 ออกไปลงประชามติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐเป็น Italian Republic และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ผมนำเรื่องอิตาลีมาเขียนเพราะตอนนี้ที่อิตาลีพันธบัตรและหุ้นร่วงลงอย่างหนัก นายมาริโอ ดรากี ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนเริ่มสงสัยว่าความวุ่นวายขายปลาช่อนในอิตาลีจะทำให้อิตาลีสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อรับเงินช่วยเหลือมูลค่า 2 แสนล้านยูโรจากกองทุนเยียวยาโควิด-19 ของสหภาพยุโรปได้หรือเปล่า

นายดรากีเคยเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติอิตาลี เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2021 นายดรากีเป็นพวกเดียวกับสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกมาตรการคว่ำบาตรขั้นเด็ดขาดต่อรัสเซีย

เพราะเศรษฐกิจอิตาลีแย่ลงเรื่อยๆ รัฐบาลโดนสภาเตรียมลงมติไม่ไว้วางใจ พรรคการเมืองพันธมิตรในรัฐบาลผสมประกาศว่าจะไม่หนุนนายดรากีในการประชุมลงมติไม่ไว้วางใจ นายดรากีไม่มีทางไปก็ต้องลาออก

ดรากีลาออกปูตินยิ้ม.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com