ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ แถลงนโยบายระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาครั้งแรก นับตั้งแต่รับตำแหน่ง หลังชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ด้านนักวิเคราะห์การเมืองชี้ยังขาดรายละเอียดสำคัญที่จะทำให้เป็นจริง

เว็บไซต์ข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 65 นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ "บองบอง" ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ได้กล่าวสุนทรพจน์แถลงนโยบายต่อรัฐสภาครั้งแรก ที่ปาตาซัง ปัมปันซา คอมเพล็กซ์ หรืออาคารรัฐสภา ในเมืองเกซอน ซิตี้ หลังจากชนะเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยผู้นำฟิลิปปินส์ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันพุ่งสูง โดยให้คำมั่นว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี จะโตที่อัตราอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่เขาบริหารประเทศ และเขาจะทำให้ตัวเลขสัดส่วนคนจนในประเทศลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียว ภายในปี 2571 และเชื่อว่าการปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นในปีหน้า 

นอกจากนี้ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า เขาจะเดินหน้าขยายการก่อสร้างในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อจากอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต รวมไปถึงการยกระดับเครือข่ายรางรถไฟในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้นำฟิลิปปินส์ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่รัฐบาลกำลังถูกจับตามอง อย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

...

ด้านนายเจซี ปูนงบายัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ มีความอ่อนเบา ไม่ลงลึกในรายละเอียด และฟังดูเป็นเป้าหมายมากกว่าแผนการทำงาน อย่างการกล่าวว่าจะเก็บภาษีมากขึ้นจากธุรกิจดิจิตอล ที่ไม่ได้บอกว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร และรัฐบาลจะประสบผลสำเร็จจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร 

ก่อนหน้านี้ บริษัทจัดการสำรวจและวิจัย "พัลส์ เอเชีย รีเสิร์ช" เปิดเผยว่า ชาวฟิลิปปินส์มีความกังวลกับภาวะเงินเฟ้อมากที่สุด ตามด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การลดตัวเลขคนยากจน และการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติของฟิลิปปินส์เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 6.1 สูงสุดอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอัตราคนว่างงานถึงร้อยละ 6 สูงสุดในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้สถาบันวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ มูลนิธิไอบอน เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ย่ำแย่ที่สุดอันดับ 5 ในบรรดา 10 ประเทศอาเซียน.