ต้องถือเป็นบทเรียนทางการเมือง ที่ต้องจดจำนานแสนนาน ประชาชนชาวศรีลังกาลุกฮือ ใช้มือเปล่าๆขับไล่ประธานาธิบดีออกนอกประเทศ และต้องสละอำนาจที่ผูกขาดเกือบ 20 ปี การลุกฮือครั้งนี้ถือเป็นจลาจลข้าวยากหมากแพง ประเทศขาดแคลนปัจจัยยังชีพทุกอย่าง ทั้งข้าวปลา อาหาร น้ำมัน ยารักษาโรคและเงิน

มูลเหตุที่ทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมที่แข็งแกร่งต้องยอมแพ้พลังประชาชน เป็นผลสืบเนื่องจากการปกครองประเทศ โดยตระกูล “ราชปักษา” ยกตำแหน่งให้พี่น้อง ลูกหลาน เป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ เริ่มต้นด้วยนายมหินทา ราชปักษา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 2548

ประธานาธิบดีมหินทาครองอำนาจ ติดต่อกันนับสิบปี นายโกตาบายา ราชปักษา อดีตรัฐมนตรีกลาโหมผู้เป็นน้องชาย ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแทน และแต่งตั้งพี่ชายคืออดีตประธานาธิบดี ให้เป็นนายกรัฐมนตรี นายกฯคนใหม่ฉวยโอกาสแต่งตั้งลูกชาย 2 คน น้องชาย 2 คน เป็นรัฐมนตรีปกครองประเทศ พร้อมกับหลานอีกคน

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจพัง หลังจากตระกูลราชปักษาปกครองอยู่เกือบ 2 ทศวรรษ อาจมีหลายสาเหตุ ที่สำคัญที่สุดคือขาดความรู้ความสามารถ แต่งตั้งญาติพี่น้องที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจให้เป็นผู้บริหารเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการดำเนินนโยบายก่อสร้างสนามบินและท่าเรือ ด้วยเงินกู้มหาศาลจากจีน แต่ไม่ได้ใช้การ

สนามบินขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ท่าเรืออีก 1.3 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นท่าเรือที่ว่างเปล่า ไม่มีเรือใช้บริการ จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุด ต้องส่งบริษัทจีนเข้าไปควบคุม ขณะที่ศรีลังกาต้องแบกภาระหนี้มหาศาลถึง 119% ของจีดีพี และเงินทุนสำรองแทบจะไม่เหลือ ไม่มีเงินนำเข้าน้ำมันและอาหาร

...

จึงเกิดปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหาวิกฤติ เศรษฐกิจล้มละลาย ประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ นายกรัฐมนตรีมหินทาจึงยอมลาออก ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายรานิล วิกรมสิงเห เป็นนายกฯคนใหม่ แต่ เหตุการณ์ก็ไม่สงบ ฝูงชนบุกทำเนียบ ประธานาธิบดี บุกเข้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี นายโกตาบายาจึงเผ่นหนีไปต่างประเทศ

แต่นายกฯวิกรมสิงเหยังต้องอยู่รับหน้าฝูงชนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯรักษาการประธานาธิบดี จนกว่าจะเลือกคนใหม่ แต่ประชาชนก็ยังปักหลักขับไล่รัฐบาล เป็นบทเรียนสำหรับการเมือง ที่ยึดถือลัทธิปกครองประเทศแบบครอบครัว ลัทธิเพื่อนพ้องน้องพี่ ระบอบอำนาจนิยม และการสืบทอดอำนาจ.