คนที่ไม่ถูกกันย่อมมองเห็นแง่ลบของอีกฝ่ายได้ง่าย แวดวงระหว่างประเทศก็ไม่ต้องกัน อย่างวันที่ 27 มิ.ย. ถึง 3 ก.ค. ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นสัปดาห์ที่แปลกแหวกแนวของ “อิหร่าน” มหาอำนาจเปอร์เซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เรียกว่า “สัปดาห์การเรียกร้องและฉีกหน้ากากสิทธิมนุษยชนของอเมริกา” ถล่มกันตรงๆอย่างไม่ต้องอ้อมค้อม

มีรายงานละเอียดเช่นใด ขอนำแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศอิหร่านมาให้อ่านกันเป็นสาระน่ารู้และสะท้อนมุมมองของอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯและตะวันตกตีตราให้เป็นผู้ร้ายมาตลอด “การปกป้องสิทธิมนุษยชนถือเป็นหนึ่งในคำขวัญและคำกล่าวอ้างที่สำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ แต่สำหรับอิหร่านนั้นขอเน้นย้ำว่า การกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบังคับให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

การใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการกดดันประเทศอิสระทางการเมือง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการละเมิดและคือการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายทางการเมือง และเชื่อว่า ปัญหานี้ยังก่อให้เกิดความท้าทายที่ซับซ้อนต่อบรรทัดฐานและกรอบการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการใช้สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือและการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ชาวอิหร่านได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าในด้านสิทธิการมีชีวิต สิทธิด้านสุขภาพสุขอนามัย และความเป็นอยู่ตามสิทธิมาตรฐานการครองชีพ สิทธิในการศึกษาและการเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี สิทธิในการพัฒนา

พร้อมชี้แจงตัวอย่างว่า การคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร บริษัทที่จัดหาสินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพไม่ร่วมมือกับบริษัทอิหร่าน ขัดขวางการซื้อยาสำหรับโรคที่หายากและเฉียบพลัน การห้ามนักวิจัยและแพทย์อิหร่านเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ “หอสมุดแพทย์แห่งชาติ” (Nation Medical Library) โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไวรัสมรณะโควิด-19

...

ไปจนด้านการเงิน การหยุดชะงักของระบบการชำระเงิน การปฏิเสธรับค้ำประกันการแลกเปลี่ยนเงินตราที่ออกโดยธนาคารอิหร่าน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ของการละเมิดสิทธิอันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ...วันนี้เนื้อที่หมดแล้วไว้พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.

ตุ๊ ปากเกร็ด