• นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์ ท่ามกลางความท้าทายจากการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤติคนว่างงาน การขาดแคลนอาหาร และพลังงานเชื้อเพลิง
  • เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ทางการฟิลิปปินส์มีคำสั่งปิดเว็บไซต์ข่าว "แรปเพลอร์" (Rappler) ที่ก่อตั้งโดยนางมาเรีย เรสซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อเพียงไม่กี่แห่งของฟิลิปปินส์ที่มักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
  • ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองของฟิลิปปินส์มองว่า รัฐบาลของมาร์กอส จูเนียร์ จะเป็นมิตรกับภาคธุรกิจ และน่าเชื่อถือว่ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่คาดเดาได้ยาก แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องคอยจับตาปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และลัทธิโอบอุ้มเครือญาติที่อาจจะยิ่งเลวร้ายลง

นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่รู้จักกันดีในชื่อ "บองบอง" หรือ "บีบีเอ็ม" สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 17 ของประเทศแล้ว ไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน สืบต่อจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่ได้สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยมี นางซารา ดูเตร์เต บุตรสาวของประธานาธิบดีดูเตร์เต รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากที่ "บองบอง-ซารา" คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่สร้างความตื่นตะลึงทางการเมืองในฟิลิปปินส์กับคะแนนเสียงถล่มทลายถึง 60%

...

มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี เป็นบุตรชายของอดีตผู้นำจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส ในตอนนั้นตระกูลมาร์กอสถูกพลังประชาชนลุกฮือประท้วงขับไล่จนสิ้นอำนาจในปี 2529 หลังจากได้ครองอำนาจบริหารประเทศฟิลิปปินส์มายาวนานถึง 21 ปี ซึ่งในอดีตช่วงเวลานั้นได้มีการประกาศกฎอัยการศึก มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันศพ มีการสั่งจับขังและทรมานผู้ต่อต้านและมีความเห็นต่างทางการเมือง เป็นยุคมืดมนของการควบคุมสื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปัจจุบันนี้คนฟิลิปปินส์รุ่นใหม่กลับมีภาพจำของยุคมาร์กอสผู้พ่อว่าเป็น "ยุคทอง" อันรุ่งโรจน์ของฟิลิปปินส์

นับเป็นการหวนกลับมากุมอำนาจบริหารประเทศอีกครั้งของทายาทตระกูลมาร์กอส ที่ต้องคอยจับตามองว่าผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์จะนำบทเรียนในสมัยที่พ่อของเขามาเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน

การกลับมาของคอร์รัปชันและระบบเครือญาติ

ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองฟิลิปปินส์มองว่า ในช่วง 6 ปีที่บองบอง มาร์กอส "ลูกเผด็จการ" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะเป็นช่วงเวลาที่อาจจะไม่แตกต่างจากยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้มีส่วนสำคัญช่วยให้ตระกูลมาร์กอสได้กลับมาครองอำนาจทางการเมืองอีกครั้งในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ โดยรัฐบาลบองบอง มาร์กอสจะรับช่วงต่อนโยบายสำคัญต่างๆ ของดูเตร์เต อย่างโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และผูกสัมพันธ์กับจีน ขณะเดียวกันเชื่อว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และลัทธิโอบอุ้มเครือญาติจะยิ่งเลวร้ายลง

สัญญาณสู่ยุคละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อ

ระหว่างแคมเปญหาเสียงของ บองบอง มาร์กอส มักจะหลีกเลี่ยงการดีเบตประชันวิสัยทัศน์ และหลบเลี่ยงการแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน และจำกัดช่องทางการสื่อสารกับประชาชน จะอยู่เฉพาะสื่อโซเชียลในเครือข่ายที่สนับสนุนพรรคสมาพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ (Federal Party of the Philippines-PFP) ของเขาที่พุ่งเป้าไปที่ประชากรคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังช่วงปฏิวัติพลังประชาชน หรือปฏิวัติสีเหลือง และโฆษณาชวนตามข้อมูลใหม่ที่ถูกแก้ไขลงในราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ในยุคกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ยาวนาน 14 ปีโดยนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสผู้ล่วงลับ

ขณะที่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ก็มีคำสั่งปิดเว็บไซต์ข่าว "แรปเพลอร์" (Rappler) ที่ก่อตั้งโดยนางมาเรีย เรสซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อเพียงไม่กี่แห่งของฟิลิปปินส์ที่มักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอดีตประธานาธิบดีดูเตร์เต และมักจะถูกดูเตร์เตเรียกว่าเป็นสื่อ "เฟกนิวส์"

...

หลังมีคำสั่งนี้ออกมา นางเรสซา กล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพบกระบวนการบางอย่างที่มีความผิดปกติอย่างมาก 

สิ้นสุดสงครามกวาดล้างยาเสพติด 

ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่าแม้จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลดูเตร์เต แต่จะเป็นการสิ้นสุดยุค "สงครามกวาดล้างยาเสพติด" นโยบายสำคัญของรัฐบาลก่อนที่เป็นมรดกบาป ทำให้ฟิลิปปินส์เสียชื่อเสียงและถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายนี้ทำให้ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดหลายหมื่นคนถูกตำรวจสังหารในปฏิบัติการนี้

ข้อมูลล่าสุดของทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า จำนวนของผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกสังหารในสงครามปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์ระหว่างเดือน ก.ค. 2559 จนถึงเดือน เม.ย. 2565 อยู่ที่ 6,248 คน แต่บรรดาองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างเชื่อว่าตัวเลขนี้น่าจะสูงถึง 30,000 คน

...

ความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจ

ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์กว่า 1 ใน 4 ของประชากร 110 ล้านคนยังมีฐานะยากจน รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ผู้นำใหม่ของฟิลิปปินส์กล่าวเน้นย้ำระหว่างการเข้ารับตำแหน่ง ว่าจะนำพาประเทศสู่ความเป็นหนึ่งเดียว จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ลดขยะมลพิษจากพลาสติก และสนับสนุนแรงงานฟิลิปปินส์หลายล้านคนที่ไปทำงานต่างแดน

นอกจากนี้เขายังได้แต่งตั้งตัวเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตร ให้ความสำคัญกับการผลิตพืชผลทางการเกษตรให้เพียงพอ ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน

ด้านนายริโกแบร์โต ติกลาโอ นักวิเคราะห์ทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลดูเตร์เต กล่าวว่า เขาคาดว่าเศรษฐกิจจะบูมภายใต้รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ และยังเชื่อมั่นในฝีมือของทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีที่จะคอยให้คำแนะนำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง.

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : CNA, Reuters

...