นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแมมมอธขนยาวอพยพไปดินแดนแถบอเมริกาเหนือพร้อมกับม้าป่า สิงโตถ้ำ และกระทิงยักษ์ โดยสูญพันธุ์ไปเมื่อ 4,000 ปีก่อน ถึงทุกวันนี้จะมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลแมมมอธ แต่การค้นพบซากที่มีความสมบูรณ์เนื่องจาก ถูกธรรมชาติอนุรักษ์ไว้อย่างดี นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเป็นความใฝ่ฝันของเหล่านักบรรพชีวินวิทยามายาวนาน

ล่าสุด นักธรณีวิทยาจากสำนักสำรวจธรณีศาสตร์ยูคอน และมหาวิทยาลัยคาลการี
ในแคนาดา รายงานการค้นพบซากลูกแมมมอธ ในเหมืองทองคำในยูคอน ดินแดนทางตะวันตกสุดของประเทศแคนาดา ซึ่งซากดังกล่าวถูกแช่แข็งในช่วงยุคน้ำแข็งเมื่อกว่า 30,000 ปีที่แล้ว แถมซากที่พบนี้ก็มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบในอเมริกาเหนือยุคปัจจุบัน ลูกแมมมอธตัวนี้มีความยาวประมาณ 140 เซนติเมตร การตรวจสอบเบื้องต้นบ่งชี้ว่าเป็นเพศเมียและเสียชีวิตขณะที่มีอายุเพียง 1 เดือน ที่น่าทึ่งก็คือร่างของมันยังมีขน มีผิวหนัง และมีเล็บมือเล็บเท้าเล็กๆ ที่ยังไม่แห้งแข็ง

ทั้งนี้ คน เฒ่าคนแก่ของกลุ่ม Tr'ond ëk Hwëch'in ซึ่งเป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำยูคอนมานับพันปี ได้ตั้งชื่อลูกแมมมอธว่า Nun cho ga ที่มีความหมายว่า “ทารกสัตว์ตัวโต”.