การประชุม จี 7 ที่เหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกหลังจาก การระบาดของโควิด-19 โดยมี โอลาฟ โชลซ์ นายกฯเยอรมนี เป็นเจ้าภาพ ประเทศสมาชิกประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี และสหรัฐฯ ต่างลงความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกต่อไปนี้จะหนักหนาสาหัส นอกจาก โรคระบาดแล้ว ผลกระทบจาก สงครามรัสเซีย–ยูเครน จะหนักหนาสาหัสมาก ราคาพลังงานเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นแน่นอน ตามด้วยราคาอาหาร สร้างความเสียหายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและพลังงานเชื้อเพลิง ทำให้เกิดปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น จากวิกฤติน้ำมัน อาหาร ไปสู่วิกฤติของโลกทุกมิติ

การสนับสนุน ยูเครน ก็เหมือนดาบสองคม ยิ่งมีสงครามยืดเยื้อ ยิ่งรัสเซีย เพิ่มกำลังรบสร้างความเสียหายให้กับ ยูเครน มากเท่าไหร่ การตอบโต้ของ ยูเครน รุนแรงขึ้นเท่าไหร่ ความเสียหายโลกก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้า จี 7 ไม่ใช้ มาตรการคว่ำบาตร หรือสนับสนุน ยูเครน เลย ก็จะมีผลเรื่องของมนุษยธรรม และอำนาจต่อรอง ที่ รัสเซีย เองก็ต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น้อย รวมทั้งเรื่องของดินแดนและอธิปไตย

การคว่ำบาตร เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด ปัญหาเงินเฟ้อ ตามมา ไม่เฉพาะน้ำมันที่ยกมาเป็นข้อต่อรองการคว่ำบาตร ยังมีเรื่องของทองคำ เรื่องของสินค้าอุปโภคบริโภคเรื่องของอาหาร ในที่สุด ผู้นำเยอรมนี ตกลงว่า จะใช้เงินในการสนับสนุนกองทัพและส่งอาวุธไปช่วยยูเครนอีกเป็นจำนวน 1 แสนล้านยูโร อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า กลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ก็คือกลุ่มประเทศ โอเปก ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในตะวันออกกลาง ที่ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั่งล่อง ทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ กับความเป็นไปของโลก

...

ยูเครน เป็นประเทศที่ผลิตอาหารส่งออก ไปหล่อเลี้ยงยุโรป ทั้งข้าวสาลี พืชผลการเกษตรอื่นๆ การปิดเส้นทางขนส่งและการทำสงครามทำให้ปริมาณอาหารที่จะป้อนให้กับยุโรปลดลงไปด้วย อย่าลืมว่า ยูเครน ส่งออกข้าวสาลี ร้อยละ 40 ของโลก ข้าวโพดร้อยละ 16 ปรากฏ ว่า การส่งออกพืชผลทางการเกษตรของ ยูเครน ถูกปิดกั้นไปถึงร้อยละ 98 จะส่งผลกระทบกับประชากรจำนวน 47 ล้านคนทันที

ราคาทองคำ มีโอกาสที่จะขึ้นไปอีก ถ้า สหภาพยุโรปและ จี 7 คว่ำบาตรรัสเซีย โดยการ งดการนำเข้าทองจากรัสเซีย ที่แต่ละปี รัสเซีย ส่งออกทองคำ มูลค่ามากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ภาพรวมของเศรษฐกิจที่วิตกกันมากก็น่าจะเป็นเรื่องของ อาหารอยู่ดี

หันมาดูบ้านเรา จุดอ่อนคือ เชื้อเพลิง ถ้าจะต้องใช้เงินกองทุนเชื้อเพลิงไปอุดหนุนดีเซลลิตรละ 11.31 บาทต่อไปและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าว่าแค่กองทุนน้ำมันจะติดลบเป็นแสนล้าน ถือว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำ จะก่อเป็นหนี้ประเทศกองมหึมาขึ้นเรื่อยๆ จนล้มละลายเหมือนศรีลังกา การที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.75 เพื่อสะกัดเงินเฟ้อ ยอมใช้ยาแรง คงจะตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะตามมา เราส่งออกไปสหรัฐฯที่เป็นคู่ค้าสำคัญของเราคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.96 ของการส่งออกทั้งหมดจะกระทบแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง

แต่โอกาสที่จะส่งออกอาหารยังเป็นบวก อยู่ที่ว่าจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเป็นหรือไม่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th