วันนี้มาฟังกันต่อครับ ทำไมสหรัฐฯและพันธมิตรจึงไม่กล้าคว่ำบาตรแบงก์พาณิชย์จีน? เหมือนที่ทำกับแบงก์พาณิชย์รัสเซีย ไม่กล้าเพราะ ธนาคารพาณิชย์ Big Four ของจีน ไม่ใช่ธนาคารธรรมดา แต่เป็นธนาคารยักษ์ระดับโลกที่อยู่ในกลุ่ม 30 ธนาคารชั้นนำของโลก และมีบทบาทสำคัญต่อ เสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ อย่างมาก ไม่น้อยหน้าธนาคารชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯและยุโรป นอกจากนี้ แบงก์จีนกับแบงก์ตะวันตกยังมีธุรกรรมการเงินที่เหนียวแน่นกันมายาวนาน ทั้งเงินฝาก เงินให้กู้ยืม ธุรกรรมการเงินต่างๆ การยุติธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง จะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เสียหายกันทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯและยุโรปเอง

ยกตัวอย่าง เช่น การค้าระหว่างประเทศ ที่มีทั้งสินเชื่อการค้า การโอนเงิน การประกันภัย ฯลฯ ถ้าสหรัฐฯคว่ำบาตรแบงก์จีน ย่อมทำให้การค้าติดขัดไปหมด จีนมีประเทศคู่ค้ามากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก เมื่อประเทศเหล่านี้ค้าขายกับจีนไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนและเดือดดาลสหรัฐฯและพันธมิตรแน่นอน ดีไม่ดีสหรัฐฯและพรรคพวก กลับเป็นฝ่ายสร้างศัตรูให้แก่ตัวเองไปทั่วโลก

และที่สำคัญ สหรัฐฯและชาติพันธมิตรจะเดือดร้อนกันมากที่สุด เพราะ สหรัฐฯมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีน 18% ของการนำเข้าทั้งหมด สหภาพยุโรปก็มีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่า 22% ของการนำเข้าทั้งหมด รวมทั้งวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรม การคว่ำบาตรจีนย่อมทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออกของสหรัฐฯและยุโรปเสียหายอย่างมาก กูรูจาก มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ประเมินว่า หากสหรัฐฯและยุโรปลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลงกว่า 90% จะทำให้การส่งออกลดลงเกือบ 10% ผู้ประกอบการในสหรัฐฯและยุโรปจะทนความสูญเสียนี้ได้หรือไม่

...

ก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่กี่อย่างชาวอเมริกันก็ลำบากกันถ้วนหน้า ทำให้ นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ยอมขายหน้าเตรียมขอยกเลิกกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อช่วยลดภาระชาวอเมริกันและกดเงินเฟ้อที่สูงลิ่วให้ลดลงมา

มาตรการคว่ำบาตรอีกประเภทหนึ่งที่สหรัฐฯและพันธมิตรยุโรปใช้ลงโทษรัสเซีย แต่อาจนำมาใช้ไม่ได้กับจีน ก็คือ การห้ามบริษัทของชาติตะวันตกส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฮเทคไปยังคู่ประเทศอริ เพื่อตัดโอกาสการผลิตและพัฒนาสินค้าไฮเทค สมัย ประธานาธิบดีทรัมป์ จีนก็โดนมาบ้างแล้ว เช่น สหรัฐฯห้ามส่งออกบางชิ้นส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน แต่ก็ไม่กล้าห้ามเด็ดขาด เพราะจะทำให้ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯรายได้หายไปกว่า 37% ทันที สะเทือนพนักงานสหรัฐฯนับแสนตำแหน่ง ตัวเลขนี้นับเฉพาะอุตสาห กรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น ยังไม่รวมอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ

การคิดจะทำโทษจีน สหรัฐฯจึงต้องคำนึงถึง ตลาดที่ใหญ่มหึมาของจีน บริษัทตะวันตกอาจหันหลังให้รัสเซียง่ายๆ แต่กับจีนคงลำบาก เช่น สินค้าแบรนด์เนม ที่ถอนตัวออกจากรัสเซียเสียโอกาสธุรกิจไปเพียง 2,400 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นตลาดจีนอาจสูญเสียมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.75 ล้านล้านบาท เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผู้นำสหรัฐฯต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าคิดจะคว่ำบาตรจีนก็คือ แร่ธาตุหายาก (Rare Earth) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางทหารและอวกาศ สหรัฐฯต้องพึ่งแร่ธาตุนี้จากจีนจำนวนมาก

ดังนั้น กูรูเศรษฐกิจการเมือง จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก จึงวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน หากสหรัฐฯและพันธมิตรคว่ำบาตรจีนแบบรัสเซีย จะเกิดความเสียหายมากกว่า แต่สหรัฐฯและพันธมิตรก็บาดเจ็บสาหัสไปด้วย จึงคาดว่า การตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น และ จีนคงไม่ใช้กำลังทหารบุกยึดไต้หวันอย่างจริงจัง ยกเว้น มือที่ 3 อย่าง “สหรัฐฯ” จะชักใยให้กลายเป็นวิกฤติจริงเท่านั้น เหมือนกรณี ยูเครน กับ รัสเซีย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”