• ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ส่งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงาน จนถึงขั้นที่ภาครัฐต้องขอร้องปชช.กว่า 8 ล้านคน งดใช้ไฟช่วยทุเลาวิกฤติพลังงาน
  • อย่างไรก็ตาม นายคริส โบเวน รัฐมนตรีพลังงานของออสเตรเลีย ยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่าชาวออสเตรเลียจะไม่ถึงขั้นต้องเผชิญภาวะไฟฟ้าดับทั่วเมือง
  • สาเหตุของวิกฤติขาดแคลนพลังงานในออสเตรเลียมีหลายปัจจัย ทั้งการหยุดชะงักของการจัดหาถ่านหิน ราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้น และเหตุน้ำท่วมหนักเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายคริส โบเวน รัฐมนตรีพลังงานของออสเตรเลีย แถลงข่าวทางโทรทัศน์จากกรุงแคนเบอร์รา วอนขอความร่วมมือจากประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์กว่า 8 ล้านคน ให้งดการใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงหกโมงเย็นจนถึงสองทุ่มของทุกวันหากเป็นไปได้ หลังจากประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงานจนถึงขั้นวิกฤติ อย่างไรก็ตาม นายโบเวนยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่าชาวออสเตรเลียจะไม่ถึงขั้นต้องเผชิญกับภาวะไฟฟ้าดับทั่วเมือง

...

ทำไมมันถึงกลายเป็นวิกฤติ?

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ส่งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าภาครัฐเพิกเฉยและไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อจะลดการปล่อยมลพิษโดยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยในปัจจุบัน 3 ใน 4 ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ ยังเป็นการผลิตโดยใช้ถ่านหินเป็นหลัก

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของการจัดหาถ่านหินจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งเหตุน้ำท่วมหนักเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็กระทบเหมืองถ่านหินบางแห่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ ประกอบกับราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้น ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในออสเตรเลียก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย จนโรงงานหลายแห่งแบกรับไม่ไหวต้องปิดตัวลงไป และยังมีรายงานไฟฟ้าดับที่โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางเทคนิค จนต้องตัดลดการผลิตในเหมือง 2 แห่งที่เป็นแหล่งจัดหาเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของตลาดไฟฟ้าในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประกอบกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากคลื่นความหนาวเย็น และการที่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของออสเตรเลียกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างหนักในออสเตรเลียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้?

หน่วยงานกำกับดูแลตลาดพลังงานออสเตรเลียยังไม่ได้มีการประกาศระยะเวลา ว่าเมื่อไหร่จะยกเลิกการระงับการซื้อขาย หลังจากที่ตัดสินใจระงับการซื้อขายในตลาดสปอตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากราคาพลังงานทะยานสูงขึ้น โดยระบุว่า หน่วยงานจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไปเป็นรายวัน และจะแจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในอนาคต พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้บริโภคในรัฐนิวเซาท์เวลส์ลดการใช้พลังงานลงชั่วคราว

ด้าน เอแอลจี เอนเนอร์จี ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของออสเตรเลีย ระบุว่า ทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้เพียงพอในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยปัจจุบันทางบริษัทมีหน่วยผลิตไฟฟ้าอยู่ 3 แห่งที่ยังคงปิดทำการ เนื่องจากขาดแคลนถ่านหิน แต่คาดว่าในสุดสัปดาห์นี้น่าจะสามารถเปิดทำการได้ทั้งสามแห่ง

ขณะที่ นายแอนโธนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รับปากว่าจะมีการนำประเด็นปัญหาเรื่องวิกฤติพลังงานครั้งนี้เข้าหารือในการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

ศาสตราจารย์ลินน์ เชสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า ผู้วางนโยบายในออสเตรเลียได้รับทราบปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติพลังงานเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ทางภาครัฐโดยเฉพาะคนวางนโยบายและกฎหมายต่างๆ เพิกเฉยที่จะหาแนวทางการใช้พลังงานที่ยั่งยืน และยังคงยึดการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีวันหมดไป เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ

...

เช่นเดียวกับ นายแอนดรูว์ สต็อก อดีตผู้บริหารของบริษัทออริจิน เอนเนอร์จี ที่ระบุว่าจริงๆ แล้ววิกฤติด้านพลังงานมีมานานหลายปีแล้ว การเกิดวิกฤติในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสะสมมานานกว่า 10 ปี ทั้งจากการไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความล้มเหลวของการวางนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่งตอนนี้มันกำลังค่อยๆ สะท้อนผลลัพธ์ออกมาให้เห็น เพื่อให้ภาครัฐเร่งที่จะหาพลังงานทดแทนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แทนที่จะพึ่งพาถ่านหินที่มีราคาแพง และโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่เก่าแก่จนถึงเวลาที่จะต้องเลิกใช้งาน

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเวลาอันสั้นย่อมไม่สามารถทำได้ โดยนายโบเวนระบุว่า ตอนนี้ประเด็นเรื่องวิกฤติพลังงานดังกล่าวอยู่บนโต๊ะที่ประชุมแล้ว แต่ยอมรับว่าการจะปฏิรูประบบพลังงานทั้งระบบคงไม่ใช่เรื่องง่าย และคงไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น เพราะยังต้องการข้อกฎหมายมารองรับการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะมีการพิจารณาอย่างระมัดระวัง และต้องแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบและทำอย่างเป็นระบบ แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ตึงเครียดที่เร่งด่วนเพียงใดก็ตาม.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล