สร้างความสำเร็จจากความล้มเหลวได้ลือลั่น สำหรับ “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” ผู้สร้างสรรค์ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” วรรณกรรมเยาวชนทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค เธอไม่เพียงพลิกชีวิตตัวเองจากโคลนตม แต่ยังปฏิวัติโลกวรรณกรรมแฟนตาซีตลอดกาล ปลุกตำนานมหาเศรษฐียุคใหม่ที่ร่ำรวยได้ด้วยน้ำหมึกและเวทมนตร์ กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จยิ่งใหญ่ของนักเขียนทั่วโลก

พ่อแม่ของ “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” ปลูกฝังพลังแห่งจินตนาการให้ตั้งแต่เด็ก พ่อเป็นวิศวกรการบินของโรลส์-รอยซ์ ส่วนแม่เป็นนักเทคนิควิทยาศาสตร์ เธอรักการขีดเขียนมาตั้งแต่เด็ก สนุกกับการเขียนเรื่องแฟนตาซี และอ่านให้น้องสาวฟัง กระนั้น ชีวิตวัยรุ่นไม่มีความสุขเท่าไหร่ เนื่องจากครอบครัวมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งอาการป่วยเรื้อรังจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งของมารดา และความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับบิดา (ปัจจุบันทั้งคู่ยังไม่พูดกัน) สมัยเด็กเธอไม่โดดเด่นเรื่องการเรียน แต่เพิ่งมาฉายแสงตอนเรียนคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาฝรั่งเศสและวรรณกรรมคลาสสิก ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์แทน หลังเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยและเลขาฯสองภาษาให้องค์การนิรโทษกรรมสากล กรุงลอนดอน

กระนั้น สายลมแห่งโชคชะตาก็พัดมา เมื่อเธอตัดสินใจลาออกจากองค์การนิรโทษกรรมสากล และย้ายไปอยู่เมืองแมนเชสเตอร์กับแฟนหนุ่ม ในปี 1990 ระหว่างกำลังติดแหง็กอยู่บนรถไฟที่แล่นจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอน ซึ่งล่าช้าไปกว่า 4 ชั่วโมง ภาพของเด็กชายที่เพิ่งรู้ตัวว่าเป็นพ่อมด และเข้าเรียนโรงเรียนเวทมนตร์ก็วาบขึ้นมาในหัวต่อเนื่อง ทันทีที่กลับถึงแฟลตแถวสถานีรถไฟแคลปแฮมจังชั่น เธอเริ่มลงมือเขียนไม่หยุดเพื่อถ่ายทอดจินตนาการเป็นตัวหนังสือ อย่างไรก็ดี ผลจากการสูญเสียแม่ที่ทนทุกข์จากโรคเอ็มเอสมานาน 10 ปี ทำให้ “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” เงียบขรึมและเปลี่ยนมุมมองชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง

...

บททดสอบชีวิตครั้งใหม่มาถึง เมื่อ “เจ.เค. โรว์ลิ่ง” พบรักและแต่งงานกับนักข่าวโทรทัศน์ชาวโปรตุเกส ระหว่างย้ายไปทำงานเป็นครูสอนภาษา อังกฤษที่เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่งและตัดสินใจแยกทางหลังอยู่กินได้ปีเดียว เพราะฝ่ายชายชอบใช้ความรุนแรง เธอหอบลูกน้อยวัยแบเบาะหนีจากโปรตุเกสมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ละแวกเดียวกับครอบครัวน้องสาว ตอนนั้นไม่มีทรัพย์สินใดๆติดตัว นอกจากโครงเรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ที่ร่างไว้ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ซิงเกิลมัมตกยาก ซึ่งต้องหาเลี้ยงลูกน้อยตามลำพัง คือช่วงชีวิตตกต่ำที่สุดของ “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” เธออธิบายสภาพตัวเองตอนนั้นว่า “ไม่ได้ไร้บ้าน แต่ยากจนเท่าที่มันจะเป็นไปได้ในประเทศอังกฤษสมัยปัจจุบัน” เธอตัดสินใจยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากรัฐสัปดาห์ละ 69 ปอนด์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของน้องสาว และยอมรับว่าเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ความหวังเดียวในชีวิตตอนนั้นคือ ต้องเปลี่ยนความสามารถด้านการเขียนให้เป็นเงินให้ได้ เพื่อหาเลี้ยงลูกสาวคนเดียว เธอไม่ได้เขียน “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ด้วยความสบายอารมณ์ แต่ฝืนใจเขียนด้วยความกดดันและคับขันในชีวิต “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” เขียนนิยายเล่มแรกเสร็จโดยอาศัยเงินสงเคราะห์จากรัฐประทังชีวิต และต้องหอบหิ้วลูกสาวไปนั่งเขียนหนังสือตามร้านกาแฟละแวกบ้าน เช่น “ดิ เอเลเฟนต์ เฮาส์” เพราะในห้องเช่าไม่มีแม้แต่ฮีตเตอร์

ในปี 1995 “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” เขียนต้นฉบับ “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” เสร็จด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า เธอส่งต้นฉบับให้บริษัทตัวแทนในฟูแล่มเพื่อหาผู้ตีพิมพ์ ปรากฏว่า โดนสำนักพิมพ์ถึง 12 แห่งปฏิเสธ กระทั่งต้นฉบับถึงมือ “แบร์รี่ คันนิงแฮม” บรรณาธิการสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รี ในลอนดอน จึงตอบรับตีพิมพ์ให้ งานนี้ต้องขอบคุณลูกสาววัย 8 ขวบ ของเจ้าของสำนักพิมพ์ เมื่อลองอ่านนิยายบทแรกก็รบเร้าขออ่านต่อทันที

“แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก 1,000 เล่ม เมื่อกลางปี 1997 และคว้ารางวัลวรรณกรรมเยาวชนจากหลายเวที แต่ที่พีกสุดคือ ได้รับการประมูลจากสำนักพิมพ์สกอแลสติกด้วยค่าลิขสิทธิ์ถึง 105,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปตีพิมพ์วางจำหน่ายในอเมริกา ทำให้เธอลืมตาอ้าปากได้ และย้ายออกจากแฟลตไปอยู่บ้านหลังใหญ่ใจกลางเอดินเบอระ เฉพาะ “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” ขายไปได้ถึง 107 ล้านเล่ม และหากรวม “แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทุกภาค” ก็ทำลายสถิติหนังสือชุดขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยยอดขายรวมกันสูงกว่า 500 ล้านเล่ม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆกว่า 73 ภาษา ยังไม่นับรายได้จากลิขสิทธิ์ที่นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์และลิขสิทธิ์อื่นๆสารพัด

นิตยสารฟอร์บส์ยกย่อง “เจ.เค. โรว์ลิ่ง” เป็นบุคคลแรกของโลกที่กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านจากการเขียนหนังสือ เมื่อรวยแล้วเธอไม่ลืมตอบแทนคืนสังคม โดยก่อตั้งมูลนิธิเดอะโวแลนต์ทรัสต์เพื่ออุทิศให้มารดา มีเงินในกองทุนกว่า 5.1 ล้านปอนด์ เพื่อต่อต้านปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในสังคม พร้อมมอบเงินให้องค์กรช่วยเหลือเด็ก ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง.

มิสแซฟไฟร์