ขออนุญาต นำบทความที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรอง นายกฯและ รมว.ต่างประเทศ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ซีอีโอคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับสังคมโลกอนาคต มาเผยแพร่ต่อ ในบริบทของการเชื่อมโยงผลประโยชน์จากการเมืองโลก โดยให้คำนิยามไว้ว่า การต่างประเทศไม่ได้อยู่ลอยๆในสุญญากาศ มันมีรากจากในประเทศทั้งนั้น ความตกลงในประเทศจะกระทบกับเหตุการณ์ในประเทศ และทางกลับกัน ผลประโยชน์ในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การนำเรื่องเศรษฐกิจเสรีมาสู่องค์การการค้าโลก ซึ่งไม่ใช่แค่การค้าแต่เป็นการค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม ธนาคาร ประกันภัย ก่อสร้าง การท่องเที่ยว ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องยอมรับว่าต้าน อิทธิพลของตะวันตกไม่ไหว
การเมืองระหว่างประเทศก็เหมือนอารยธรรมเก่าแก่ เคลื่อนไปตามกิเลสคน ตามผลประโยชน์ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เปลี่ยนจากการที่ต้องไปยึดดินแดนมาเป็นบังคับต้องให้เปิดดินแดน สมัยประธานาธิบดี ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เปิดสงครามการค้ากับจีน มาถึงเรื่องของการแข่งขันด้านเทคโนโลยี กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีและกำลังจะเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอีกแล้ว
การเมืองมีพลวัตที่ไม่ได้อยู่นิ่ง เช่น การเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน บทบาทของ สหประชาชาติ ต้องมีการยกเครื่องโครงสร้างของ คณะมนตรีแห่งสหประชาชาติ ที่มีเพียง 5 ประเทศที่มีสิทธิ วีโต ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สิทธิวีโตของตัวเองอยู่แค่นี้ ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคง มีอำนาจอะไรบ้าง มีอำนาจสั่งการหรือไม่ การที่เกิดโรคระบาดเสียชีวิตกันเยอะขนาดนี้ เป็นเรื่องของความมั่นคงหรือไม่
ดังนั้น จะเห็นว่า ระเบียบโลก ที่กำหนดโดยองค์กรพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ ยังใช้การได้หรือไม่ ระเบียบโลกยังมีอยู่หรือไม่ หากประโยชน์อยู่ที่ศูนย์กลางของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือนอกประเทศย่อมมีศักยภาพกำหนดประโยชน์ได้อย่างมหาศาล
...
เรื่องของ องค์การการค้าโลก แตกมาเป็นความตกลงในภูมิภาคหรือระหว่างภูมิภาค ทำให้กระทบกับการบริหารจัดการในประเทศทั้งในหน่วยราชการและองค์กรภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาตกลง ที่บางครั้งก็ไปขัดกันเอง หรือเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องระดมสมอง มองยุทธศาสตร์ 20 ปี ถือว่าไกลมากเกินไป จีนที่เก่งเรื่องยุทธศาสตร์ทำไว้แค่ 5 ปี ยังต้องปรับทุกปี เราทำไว้ 20 ปี ก็ต้องมาดูว่าในแต่ละปีเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องเอาผู้มีประสบการณ์มากลั่นกรอง อันไหนทำได้ทำไม่ได้ เช่น บอกว่าประเทศไทยจะก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี แต่เมื่อกระบวนการศึกษาเป็นแบบนี้จะไปก้าวกระโดดแบบไหน
สุดท้ายคือการ เชื่อมคน คนที่เป็นผู้นำรุ่นก่อนอาจมองไม่ค่อยเห็น เพราะจะโฟกัสอยู่กับเรื่องการจัดการรายวันต่างๆ ปัญหาคือถ้าเป็นผู้นำจะเลือกฟังความเห็นจากคนรุ่นไหน ประเทศไทยยังเชื่อมโลกแบบเขย่ง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน พยายามที่จะเชื่อมไปสู่พรมแดนแห่งอนาคตแล้ว.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th