สงครามยูเครน-รัสเซีย ในยุโรปตะวันออก แสดงให้โลกเห็นถึงรูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไป การมีกำลังเยอะกว่า ใช่ว่าจะทำให้ได้รับชัยชนะ อย่างง่ายดาย

ทั้งสะท้อนให้เห็นอีกว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ยุทธศาสตร์ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในยุคสงครามเย็น ประเมินไว้ว่าหากสงครามอุบัติขึ้นมาวันใดวันหนึ่ง ยุโรปจะต้องเผชิญกับกองทัพรถถังสหภาพโซเวียตจำนวนมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายจะต้องมีขีดความสามารถ ในการรับมือกับ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” ของรถถังโซเวียต

เป็นที่มาว่าทำไมรถถังชาติตะวันตกจึงมีเกราะหน้าแข็งเป็นพิเศษ สามารถทนทานต่อการระดมยิงจากรถถังข้าศึกได้ยาวนาน และทำไมตะวันตกถึงมีอาวุธต่อต้านรถถังมากมายหลายประเภท ซึ่งวันนี้อาวุธต่อต้านรถถังจำนวนมากได้หลั่งไหลเข้าไปในยูเครน จนเริ่มเป็นที่ติดหู ชาวโลกไม่ว่าจรวด “เอ็นลอว์” หรือจรวด “จาวาลิน”

ล่าสุดมีรายงานจากแนวหน้า ว่ายูเครนได้รับอาวุธเพิ่มอีกชนิดแล้ว ชื่อว่า DM22 “พันเซอร์อับแวร์ริคต์ไมน์” หรือกับดักรถถังพาร์ม 2 โดยงานนี้เจ้าภาพคือกองทัพ “เยอรมนี” ที่ก่อนหน้านี้ถูกฝ่ายยูเครนบ่นอุบบ่นอิบว่า ดำเนินการส่งอาวุธช่วยเหลือล่าช้ากว่าใครเพื่อน

กับดักดีเอ็ม 22 ตัวนี้ ไม่ใช่อาวุธใหม่ล้ำยุคอะไรขนาดนั้น แต่ถือเป็นสิ่งที่กองทัพเยอรมนีมองว่าจำเป็นต่อสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับรถถังหรือยานเกราะข้าศึกในปริมาณมาก มีหน้าที่หลักคือป่วนการเคลื่อนกำลัง และชะลอการบุก เพื่อให้ฝ่ายป้องกันมีเวลาปรับเปลี่ยนโยกย้ายแนวรบ

ทำงานด้วยระบบเส้นลวดสะดุด หรือระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อน หากมีรถถังหรือยานเกราะวิ่งผ่านมาในระยะ 4-100 เมตร ฐานวางจะทำการยิงจรวดต่อต้านรถถังเข้าใส่ ซึ่งตามสเปกอ้างว่ามีอำนาจเจาะเกราะหนา 750 มิลลิเมตร ทั้งสามารถทะลวงเกราะซับแรงระเบิด “รีแอ็กทีฟอาร์เมอร์” ที่เป็นคุณลักษณะเด่นของรถถังรัสเซีย

...

และที่สำคัญกับดักสามารถปล่อยลืมไม่ต้องมีคนควบคุม ทั้งตั้งค่าได้ว่าจะให้ระบบเริ่ม “ทำงาน” เมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นหลักชั่วโมงหรือสูงสุด 30 วัน ตามสถานการณ์ว่าข้าศึกบุกมารวดเร็วเพียงใด.

ตุ๊ ปากเกร็ด