ถือเป็นงานช้างที่สุดงานหนึ่งของราชวงศ์โลก สำหรับ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร” ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่พร้อมเพรียงกัน ระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายนนี้ โดยจะทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของอังกฤษที่ได้ฉลอง “Platinum Jubilee” ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกิน 7 ทศวรรษ ขณะมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา และนับเป็นประมุขแห่งรัฐลำดับที่สามที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก เป็นรองก็แต่ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส” ซึ่งทรงทำสถิติไว้ที่ 72 ปี 110 วัน และ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี 126 วัน

...

สำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี จะเปิดฉากวันแรกในวันที่ 2 มิถุนายน ด้วยพิธีสวนสนามของทหารกองเกียรติยศ “Trooping the Colour” อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะมีทหารเข้าร่วมมากกว่า 1,400 นาย, ม้า 200 ตัว และนักดนตรี 400 คน ตามมาด้วยการจุดคบเพลิงร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกันมากกว่า 1,500 จุด ทั่วทุกพื้นที่ของสหราชอาณาจักร และประเทศในเครือจักรภพ จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน จะมีพิธีรำลึกพระมหากรุณาธิคุณใน “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง” ณ มหาวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน

ส่วนวันที่ 4 มิถุนายน จะมีการเปิดพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อจัดงานเลี้ยงฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี อย่างยิ่งใหญ่ โดยประชาชนได้รับเชิญให้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตใหญ่ที่เต็มไปด้วยศิลปินชื่อดังระดับโลกมากมาย ปิดท้ายการเฉลิมฉลองครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 5 มิถุนายน เมื่อประชาชนทั่วประเทศได้รับเชิญร่วมงานเลี้ยง “The Big Jubilee Lunch” ซึ่งจัดขึ้นบนท้องถนนของแต่ละชุมชน พร้อมชมการแสดงกลางแจ้ง “Platinum Jubilee Pageant” บริเวณรอบๆพระราชวังบักกิงแฮม โดยจะมีนักแสดงหลากหลายแขนงราว 5,000 คน จากทั่วสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพมาร่วมสร้างสีสันอย่างคึกคัก

...

นอกจากนี้ ตลอด 4 วันเต็มของการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ยังมีการเปิดพระตำหนักซานดริงแฮม และปราสาทบัลมอรัล ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชม ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ย้อนระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระราชวังบักกิงแฮม, พระราชวังวินด์เซอร์ และพระราชวังฮอลีรูดในเอดินเบอระ สกอตแลนด์

...

เมื่อไม่นานมานี้ มีการโหมกระพือข่าวว่าครอบครัวซัสเซกซ์ของ “เจ้าชายแฮร์รี” จะเดินทางกลับมาร่วมงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ดังกล่าว และอาจมีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีครั้งนี้ กระนั้น สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จากพระราชวินิจฉัยของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง” ทรงตัดสินพระทัยว่าจะมีเฉพาะพระองค์และสมาชิกราชวงศ์ที่ยังคงปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างเป็นทางการเท่านั้น ที่จะได้ร่วมเสด็จออกสีหบัญชร ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี บ่งชี้ชัดว่าพระราชวงศ์นอกคอกอย่าง “เจ้าชายแฮร์รี” และ “เมแกน มาร์เคิล” รวมไปถึง “เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์” จะไม่ได้ปรากฏกายร่วมกับเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์แห่งวินด์เซอร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องในโอกาสฉลองการเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี ณ พระตำหนักซานดริงแฮม “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” มีพระราชสาส์นสำคัญแสดงพระราชประสงค์ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าทรงสนับสนุนให้พระสุณิสา “คามิลลา” ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ขึ้นเป็น “พระราชินี” ในอนาคต ภายหลังจากที่พระราชโอรสองค์โต “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ได้เสด็จขึ้นเป็นกษัตริย์สืบทอดราชบัลลังก์แทนพระองค์

...

“เมื่อวันเวลาของข้าพเจ้ามาถึง และ “ชาร์ลส์” โอรสของข้าพเจ้าได้เป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะให้การสนับสนุนแก่ “ชาร์ลส์” และ “คามิลลา” ผู้เป็นชายา แบบเดียวกับที่เคยสนับสนุนข้าพเจ้าเสมอมา และข้าพเจ้าปรารถนาอย่างจริงใจว่าเมื่อถึงเวลานั้น “คามิลลา” จะได้รับการยอมรับในฐานะ “พระราชินีพระราชชายา” (Queen Consort) ในขณะที่ “คามิลลา” ยังคงปฏิบัติพระกรณียกิจต่างๆด้วยความซื่อสัตย์ต่อไป”

ทั้งนี้ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาผู้ล่วงลับ “พระเจ้าจอร์จที่หก” อย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1952 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 25 พรรษา หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 1 ปี 3 เดือน 27 วัน จึงมีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1953 เปิดฉากยุคสมัยของการผลัดแผ่นดินในเวลาเดียวกับที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเครือจักรภพ โดยอังกฤษอยู่ในช่วงแร้นแค้นหนักเพราะพิษจากสงครามโลกครั้งที่สอง และกำลังเข้าสู่ยุคฟื้นฟูราชอาณาจักรยาวนานต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนแปลงบทบาทของอังกฤษบนเวทีโลก หลังการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ซ้ำเติมด้วยบททดสอบสารพัดที่ท้าทายความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ, ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลก, เทคโนโลยี และวัฒนธรรม, การเข้ามามีอิทธิพลของพลเมืองคนรุ่นใหม่, การตัดสินใจถอนตัวจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และวิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก ไม่นับรวมถึงการสร้างเรื่องราวปวดหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเหล่าพระราชวงศ์น้อยใหญ่

ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเคร่งขรึมอยู่เหนือทุกความขัดแย้งทางการเมือง แท้จริงแล้วทรงเป็น “เอลิซาเบธผู้เด็ดเดี่ยว” (Elizabeth the Steadfast) ผู้ใช้ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยตลอด 7 ทศวรรษแห่งการครองสิริราชสมบัติ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง” ไม่เพียงแต่จะทรงเป็น “สัญลักษณ์แห่งความมั่นคง” แต่ยังทรงสร้างความทันสมัย, เพิ่มเกียรติยศ และความนิยมชมชอบต่อราชวงศ์ ทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นเสาหลักที่อยู่คู่สหราชอาณาจักรได้อย่างสง่างามเหนือกาลเวลา.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ