การขุดเหมืองนอกโลกนับว่าแผนการใหญ่ของมนุษย์ที่คิดกันมานาน เพราะมีข้อมูลบ่งบอกว่าวัตถุจาก ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง ต่างมีแหล่งทรัพยากรอันมีค่ามากมาย หลายคนอาจจินตนาการถึงการแยกวัสดุจากวัตถุต่างๆ บนดินแดนนอกโลก แต่อาจสงสัยว่าจะนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาได้อย่างไร และความสงสัยนี้เองดูจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ฉุดรั้งความคิดของเราไว้

ข้อมูลในปี 2561 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายราว 3,645 ดอลลาร์ออสเตรเลียหรือกว่า 3 แสนบาทสำหรับส่งวัสดุ 1 กิโลกรัมสู่วงโคจรต่ำของโลก และยังมีอีกจำนวนมากที่จะส่งไปไกลกว่านั้น เช่น ส่งขึ้นไปดวงจันทร์ ดังนั้น มีแนวโน้มว่าวัสดุที่จะขุดกันนอกโลกเพื่อที่จะใช้ในอวกาศ น่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ การขุดเหมืองในอวกาศยังสามารถเปลี่ยนการจัดการดาวเทียมได้เช่นกัน บริษัทด้านอวกาศบางแห่งได้ตั้งเป้าหมายออกแบบประเภทของดาวเทียมที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้จากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนจรวดในอวกาศไว้แล้ว

ส่วนทรัพยากรนอกโลกที่มีค่าก็เช่น ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีธาตุเหล็ก นิกเกิล ทองและโลหะกลุ่มแพลทินัมอย่างมหาศาล ที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เรโกลิธ (regolith) ที่เป็นหินและดินที่ชั้นผิวของดวงจันทร์พบว่ามีฮีเลียม-3 ซึ่งขณะนี้มีบริษัทในอังกฤษได้พัฒนากระบวนการดึงออกซิเจนจากเรโกลิธของดวงจันทร์แล้ว อีกทั้ง น้ำแข็งที่คาดว่าจะมีอยู่บนพื้นผิวหรือที่แอ่งใกล้ขั้วดวงจันทร์ หรือน้ำแข็งอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ก็เชื่อว่าจะใช้ในการเกื้อหนุนชีวิตได้ และเมื่อแยกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจนก็ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนได้อีกเช่นกัน

เมื่อคิดถึงประโยชน์ก็นับว่าหวานหอมมากมาย ทว่าในแง่เทคนิคและเศรษฐกิจแล้ว ค่าใช้จ่ายในการนำอุปกรณ์ขุดขึ้นสู่อวกาศนั้นมีราคาแพง ลุ้นการใช้เวลาในการขนส่งและลุ้นว่ายานจะปล่อยจากโลกสำเร็จหรือไม่ การทำเหมืองนอกโลกจะต้องควบคุมจากระยะไกลหรือเปล่า ยังไม่นับว่าเมื่อต้องส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ต้องมีกระบวนการปกป้องชีวิต โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงรังสี ต่างๆนานางานนี้ คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว.

...

ภัค เศารยะ