ประชากรในพื้นที่สู้รบและสงคราม นับว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นผู้คนกลุ่มสุดท้าย ในโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสถิติปัจจุบัน พบว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในโลก 25 ประเทศเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบและความรุนแรง

และในโอกาสที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลกจะเริ่มต้นขึ้นปลายเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี ได้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ด้วยแฮชแท็ก #TheLastMile และปล่อยวิดีโอสั้นเรื่อง “Their journey didn’t have to end like this” เล่าเรื่องราวของพยาบาลในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ประสบความยากลำบากในการจัดหาวัคซีนแก่ชุมชนสะท้อนชะตากรรมของผู้คนหลายสิบล้านคนที่ตกหล่นจากแผนการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ ซึ่งในวิดีโอดังกล่าวได้บทสรุปสะเทือนใจที่ว่า “วัคซีนไม่อาจช่วยชีวิตใครได้ หากไปไม่ถึงที่หมาย”

ไอซีอาร์ซีประเมินว่ามีประชากรมากกว่า 50 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังติดอาวุธ และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จนถึงทุกวันนี้การระบาดก็ยังไม่จบสิ้น และการเกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนแสดงให้เห็นว่า การที่ประชากรจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนนำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัสอย่างรวดเร็ว มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์มากขึ้นซึ่งสามารถต้านทานวัคซีนที่มีอยู่ ทั้งนี้การควบคุมไวรัสทั้งในปัจจุบัน และชนิดอื่นในอนาคต จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนประชากรอย่างทั่วถึงรวมทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งที่ห่างไกลด้วย

ที่ผ่านมา ไอซีอาร์ซีเป็นตัวกลางช่วยประสานให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนฝ่าแนวปะทะไปถึงพื้นที่ชนบทห่างไกลในหลายประเทศ รวมถึงความช่วยเหลือในการขนส่งกระจายวัคซีน ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประเทศที่มีความขัดแย้งที่ขาดศักยภาพทั้งการควบคุมอุณหภูมิและระบบจัดเก็บวัคซีน กระแสไฟฟ้า ความสามารถด้านสาธารณสุขและบุคลากรด้านการแพทย์ไปจนถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ย่ำแย่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังอาจถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชุมชนต้องขาดที่พึ่งด้านการรักษาพยาบาลโดยรวม

...

ปัจจุบัน ไอซีอาร์ซียังคงเร่งทำงานเพื่อช่วยให้วัคซีนกระจายไปถึงประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเข้าชมแคมเปญ #TheLastMile ได้ที่ https://www.icrc.org/en/covid-vaccine-last-mile