“ซอฟต์เพาเวอร์” หรืออำนาจอ่อนกลายเป็นกลไกสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการสร้างอิทธิพลแก่ประเทศอื่นๆด้วยวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายไม่จำเป็นต้องบังคับขู่เข็ญ หรือซื้อกันด้วยเงิน ดังช่วงยุคสมัยสงครามเย็นแต่อย่างใด

โดยเฉพาะเชิง “วัฒนธรรม” ที่ทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะสามารถเล่าเรื่องราว คุณค่าของชาติตัวเอง ผ่านทางสื่อกลางอย่างดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะในรูปแบบต่างๆ

ประเทศไทยเรารับซอฟต์เพาเวอร์จากประเทศอื่นๆมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภาพยนตร์ฮอลลีวูด ดนตรีร็อก ที่ทำให้เราอินกับค่านิยมของสหรัฐฯ การ์ตูนมังงะ อนิเมะ ที่ทำให้เราเก็ตตัวตนคนญี่ปุ่น หรือซีรีส์หนังโรแมนติก ซีรีส์นวนิยาย ที่ทำให้เราดื่มด่ำความเป็นเกาหลีและจีน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย จัดตั้งศูนย์อบรมภาษาเกาหลี เพื่อพัฒนาครูอาจารย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย และสร้างรากฐานภาษาเกาหลีในไทย โดยเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีเอกภาษาเกาหลีมาตั้งแต่ปี 2545 ศูนย์อบรมแห่งนี้ในคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร จะดำเนินงานเป็นเวลา 3 ปี และจะมีการประเมินรายปีว่า จะดำเนินการฝึกอบรมในปีต่อไปหรือไม่

เพราะนับวันมีคนไทยเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ นักเรียนแผนเกาหลี วิชาเลือกภาษาเกาหลี เรียนภาษาเกาหลีหลังเลิกเรียน หรือชมรมภาษาเกาหลี ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา จากระดับ 21,745 คน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 46,446 คน เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

ยังไม่รวมถึงคนวัยทำงาน ที่อยากรู้ภาษาเกาหลีเพื่อเป็นความสามารถพิเศษ หรือเพื่อเป็นงานอดิเรก ดูหนังซีรีส์ ฟังเพลงเค-ป๊อปที่ชื่นชอบ (ไม่รวมถึงกระแสเด็กไทยไปดังในเกาหลีอย่างน้องลิซ่าหรือแบมแบม) ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เรียนภาษาเกาหลีมากที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อย

...

แน่นอนสำหรับประเทศไทยเราเอง ก็มีซอฟต์เพาเวอร์อยู่เช่นกัน ชัดเจนสุดคือ “อาหารไทย” เป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วโลก ด้วยรสชาติครบเครื่อง เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด เพียงแต่อำนาจอ่อนด้านอาหารเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถทำให้อินกับความเป็นไทยได้มากๆขนาดนั้น.

ตุ๊ ปากเกร็ด