- สัปดาห์ที่ผ่านมาทางการจีนเปิดเผยว่า นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายเจเรเมียห์ มาเนเล รัฐมนตรีต่างประเทศของหมู่เกาะโซโลมอน ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลง ว่าด้วยการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระดับทวิภาคี ที่มีเนื้อหาบางส่วนสร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้
- ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และออสเตรเลียที่กำลังก่อสร้างสถานทูตแห่งใหม่ในกรุงโฮนีอารา ก็ได้แสดงความเป็นชาติพันธมิตรด้วยการเสนอมอบเงินมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน
- ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การทำข้อตกลงความร่วมมือกับจีนและรับความช่วยเหลือจากจีนและต่างชาติมากมาย แทนที่จะเป็นหลักประกันให้กับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน แต่กลับทำให้ต้องเจอกับปัญหาความแตกแยกเป็นสองฝ่าย ระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนและกลุ่มที่ต่อต้าน จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่รอวันปะทุ
ทางการจีนประกาศว่าได้มีการลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงกับโซโลมอน ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีประชากรทั้งหมดไม่ถึง 700,000 คน เป็นการประกาศตัดหน้าผู้แทนของสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่กำลังเดินทางไปโน้มน้าวรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนว่าอย่าลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของรัฐบาลจีนหลังจากที่เคยพยายามโน้มน้าวจนรัฐบาลโซโลมอนยอมประกาศตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันเมื่อ 2 ปีก่อน
โดยจีนระบุว่าข้อตกลงฉบับนี้ เป็นข้อตกลงที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่จีนฝ่ายเดียว จีนมองว่าจุดประสงค์ของความร่วมมือนี้คือสร้างเสถียรภาพและความสงบสุขในหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนในด้านการรักษาระเบียบของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการรับมือกับภัยธรรมชาติ
...
แต่ในมุมมองของประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ นี่เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เกรงว่าจีนจะเข้าไปตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอน รวมถึงการที่รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมานาสเซห์ โซกาแวร์ ที่สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนจนน่าวิตก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากก้าวข้ามผ่านความกลัวทางการเมืองและความมั่นคง จะเห็นได้ว่าออสเตรเลียและชาติพันธมิตรไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงเรื่องอิทธิพลของจีนที่กำลังมีมากขึ้น โดยได้แต่คอยสกัดไม่ให้จีนขยายอิทธิพล แต่กลับไม่รู้จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาข้อตกลง
หลังจากที่รัฐบาลโซโลมอนออกมาเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังร่างข้อตกลงกับจีนโดยเข้าใจถึงสถานการณ์อย่างดี และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จากนั้นก็มีเอกสารเนื้อหาข้อตกลงที่ไม่ได้รับการยืนยันหลุดออกมาว่า เรือรบของจีนจะได้รับอนุญาตให้เข้าจอดเทียบท่าในหมู่เกาะโซโลมอนได้ และรัฐบาลจีนสามารถส่งกองกำลังความมั่นคงเข้าไปช่วยเหลือในการรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคมได้
โดยเนื้อหาข้อตกลงได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคม และการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ของหมู่เกาะโซโลมอน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเหตุจลาจลนองเลือดในกรุงโฮนีอารา หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจรัฐบาลที่ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเพื่อเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ประท้วงก่อเหตุรุนแรงบริเวณย่านไชน่าทาวน์ และบุกอาคารรัฐสภาเพื่อพยายามโค่นล้มนายกรัฐมนตรีโซกาแวร์ เมื่อเดือนพ.ย. 2564 จนรัฐบาลออสเตรเลียต้องส่งเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตัวเองไปช่วยระงับเหตุจลาจล ภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีของสองประเทศที่ลงนามไว้เมื่อปี 2560
หลายฝ่ายมองว่าจีนย่อมไม่หยุดแค่นี้ โดยเชื่อว่าการทำข้อตกลงฉบับนี้เป็นเพียงก้าวแรกของแผนที่ใหญ่กว่า นั่นคือการตั้งฐานทัพจีนแบบถาวรในหมู่เกาะโซโลมอน โดยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความวิตกกังวลว่าข้อตกลงฉบับนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อหลักการเสรีและเปิดกว้างของอินโด-แปซิฟิก
หากมองในมุมของรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน การทำข้อตกลงแยกต่างหากกับรัฐบาลจีนอาจเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการของความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคง และเป็นการคานอำนาจทางการเมืองระหว่างจีนกับชาติตะวันตกในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีโซกาแวร์ย้ำว่าข้อตกลงฉบับนี้ไม่ได้รวมไปถึงการอนุญาตให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพ พร้อมโจมตีคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าขอให้เคารพอธิปไตยของหมู่เกาะโซโลมอน
...
ด้านนักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างมองว่า จีนไม่น่าจะตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนแบบเป็นหลักแหล่ง เพราะจะยิ่งเป็นการถูกประชาคมโลกและชาวโซโลมอนเองมองในแง่ลบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่ส่งเรือรบ หรือกองกำลังทหารไปในรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องเปิดเผย
ปัญหาของหมู่เกาะโซโลมอนในอนาคต
หมู่เกาะโซโลมอนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การทุ่มเงินช่วยเหลือมหาศาลก็จะยิ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่นายกรัฐมนตรีและกลุ่มนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนจีนได้นำมาใช้อ้างเป็นผลงานทางการเมืองที่ตัดสินใจถูกในการไปลงนามข้อตกลงกับจีน ซึ่งทำให้ตอนนี้นานาประเทศต่างกันมาสนใจหมู่เกาะโซโลมอน
โดยเมื่อเห็นว่ารัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนลงนามความร่วมมือกับจีน สหรัฐฯและออสเตรเลียที่กำลังก่อสร้างสถานทูตแห่งใหม่ในกรุงโฮนีอารา ก็ได้แสดงความเป็นชาติพันธมิตรด้วยการเสนอมอบเงินมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน
แต่แม้จะมีหลายประเทศบริจาคเงินมหาศาลให้กับหมู่เกาะโซโลมอนตั้งแต่ยุคปี 1970 แต่ประชาชนแทบไม่เห็นการพัฒนาใดๆ ทั้งระบบสาธารณูปโภค และคุณภาพชีวิตของประชาชนยังย่ำแย่เหมือนเดิม ประชากรกว่า 80% ของประเทศยังอาศัยอยู่ในชนบท และเมืองทุรกันดาร ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
...
หลังจากโน้มน้าวให้หมู่เกาะโซโลมอน ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันได้สำเร็จ จีนได้มอบเงินช่วยเหลือหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน และยังช่วยสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขนาดใหญ่มหึมา เพื่อช่วยให้รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาแปซิฟิก เกมส์ ในปีหน้า โดยเป็นการสร้างให้เปล่า แต่รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนต้องเป็นผู้จ่ายเงินดูแลบำรุงรักษาเอง
ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ารัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนจะติดกับดักหนี้ของจีน จีนก็ได้เตรียมสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือกว่า 200 แห่งของบริษัทจีนที่ให้บริการเครือข่ายสัญญาณในหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนต้องหาเงินมาจ่ายคืนให้จีน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศยังต้องการการพัฒนาด้านสาธารณสุข และการศึกษา ที่มีความจำเป็นสำหรับประชาชนมากกว่าสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อลังการ
ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองระหว่างประเทศมองว่า การทำข้อตกลงความร่วมมือกับจีนและรับความช่วยเหลือจากจีนและนานาประเทศมากมาย แทนที่จะเป็นหลักประกันให้กับรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน แต่กลับทำให้ต้องเจอกับปัญหาความแตกแยกเป็นสองฝ่าย ระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนและกลุ่มที่ต่อต้าน จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่รอวันปะทุ และในอนาคตอาจเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนชาวโซโลมอนกับกลุ่มธุรกิจจีนที่เข้าไปลงทุน ที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลจีน.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
...