• รัสเซียเผชิญเสียงประณามจากทั่วโลกรอบใหม่ หลังมีการเผยภาพความโหดร้ายในเมืองบูชา ของยูเครน ซึ่งประชาชนจำนวนมากถูกสังหารและทิ้งศพไปตามถนน หรือถูกฝังในหลุมศพขนาดใหญ่

  • โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกโรงจวก วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียว่า เป็นอาชญากรสงคราม และเรียกร้องให้มีการไต่สวนชายคนนี้ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม

  • แต่การจะนำตัวผู้นำประเทศสักคนมาไต่สวนนับเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปูติน และทำให้มีโอกาสสูงมากที่เขาจะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน

หลังจากมีสัญญาณที่ดีในการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้แทนยูเครนกับรัสเซียที่นครอิสตันบูล ของตุรกี เมื่อ 29 มี.ค. 2565 ซึ่งทำให้มอสโกประกาศถอนกำลังออกจากพื้นที่โดยรอบกรุงเคียฟ แต่ผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ทหารยูเครนที่กลับเข้าควบคุมพื้นที่กลับพบภาพความโหดร้ายที่หลงเหลือจากการรุกรานของรัสเซีย เรียกเสียงประณามจากนานาชาติอีกครั้ง

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ยูเครนพบ คือศพประชาชนจำนวนมากที่เสียชีวิตและถูกทิ้งไว้ตามท้องถนน ในเมืองบูชา ชานกรุงเคียฟ บางรายอยู่ในสภาพถูกมัดมือไพล่หลัง มีร่องรอยของการทรมาน พวกเขายังพบสุสานขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีศพถูกฝังอยู่ไม่น้อยกว่า 57 ราย และมีการเผยแพร่ภาพกับวิดีโอออกมาให้โลกได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 2-3 เม.ย.

รัสเซียตอบโต้ว่า ภาพศพดังกล่าวเป็นการจัดฉากของฝ่ายยูเครน เพื่อป้ายสีพวกเขา และพยายามอ้างว่า ภาพถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากที่ทหารรัสเซียถอนกำลังออกไปแล้วหลายวัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ภาพจากดาวเทียมของบริษัท MAXAR ซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ 19 มี.ค. แสดงให้เห็นว่า ศพมากมายอยู่บนท้องถนนตั้งแต่ตอนที่รัสเซียควบคุมเมืองอยู่แล้ว

นอกจากเสียงประณามจากนานาประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตก ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดี วลาดิเมียร์ ปูติน ในข้อหาอาชญากรรมสงครามด้วย แต่การนำตัวผู้นำรัสเซียมาไต่สวนนั้น ไม่ง่ายเหมือนปากพูด และต่อให้การดำเนินคดีเกิดขึ้นจริง ปูติน ก็อาจไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเลย

...

อาชญากรรมสงครามคืออะไร?

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเคยระบุไว้ว่า “แม้แต่สงครามก็มีกฎของมันอยู่” และกฎเหล่านั้นถูกบัญญัติเอาไว้ใน อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และข้อตกลงกับกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ

กฎที่ว่ารวมถึง ต้องไม่จงใจโจมตีพลเรือนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการเอาชีวิตรอดของพลเรือน ขณะที่มีอาวุธหลายประเภทที่ถูกห้ามใช้ เนื่องจากมันสร้างความเสียหายรุนแรงหรือโจมตีโดยไม่แบ่งแยก เช่น กับระเบิดต่อต้านบุคคล, อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ นอกจากนั้น ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยต้องได้รับการรักษา รวมถึงทหารฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีสิทธิ์ในฐานะนักโทษสงคราม

การละเมิดข้อกำหนดของอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง จะถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม และการทำผิดร้ายแรงอย่าง การฆาตกรรม, ข่มขืน หรือการประหารหมู่ จะถูกเรียกว่า การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ใครมีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม?

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นานาชาติมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อสืบสวนเฉพาะกรณีหลายครั้ง แต่ปัจจุบัน มีศาลระหว่างประเทศที่ดูแลคดีอาชญากรรมสงครามอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)

ICJ มีอำนาจตัดสินความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่ไม่สามารถดำเนินคดีเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งยูเครนได้เริ่มกระบวนการฟ้องร้องเอาผิดรัสเซียแล้ว ซึ่งหาก ICJ ตัดสินเอาผิดรัสเซีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จะเป็นผู้รับผิดชอบนำคำตัดสินไปใช้ แต่เนื่องจากรัสเซียเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC ทำให้พวกเขามีสิทธิ์ วีโต มติลงโทษพวกเขาได้

ส่วน ICC จะทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามเป็นรายบุคคล เฉพาะผู้ที่ไม่ได้กำลังถูกดำเนินคดีโดยศาลของประเทศใดๆ อยู่ โดยตอนนี้ พวกเขากำลังสืบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน โดยสืบย้อนไปถึงปี 2556 ก่อนรัสเซียควบรวมแคว้นไครเมียเป็นของตัวเอง

หากพบหลักฐาน อัยการจะสามารถขอให้ผู้พิพากษาของ ICC ออกหมายจับเพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยมาไต่สวนที่กรุงเฮกได้ แต่ในทางปฏิบัติ ICC มีอำนาจจำกัด เพราะพวกเขาไม่มีกองกำลังตำรวจ และต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นๆ ในการจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่รัสเซียถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ICC แล้ว จึงไม่มีทางที่รัสเซียจะส่งตัวปูตินหรือใครให้แก่ ICC

นอกจากนี้ยังมีศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสภายุโรป (Council of Europe) ซึ่งดูแลคดีทั้งในระบบบุคคลและเป็นกลุ่ม แต่ที่ผ่านมารัสเซียแทบไม่ทำตามคำตัดสินของศาลนี้ และพวกเขาเพิ่งถูกขับออกจากสภายุโรปเมื่อกลางเดือนมีนาคม จึงทำให้ไม่มีเหตุผลที่รัสเซียจะทำตามคำสั่งของ ECHR อีกต่อไป

...

ดำเนินคดีได้ แต่เอาผิดปูตินยาก

แม้จะมีการเรียกร้องจากนายไบเดน และเสียงสะท้อนจากทั่วโลก แต่นายปูตินไม่น่าที่จะได้รับโทษข้อหาอาชญากรรมสงคราม อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่เขายังอยู่ในอำนาจ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อาชญากรรมสงครามเป็นข้อหาที่ยากในการสืบสวน และการดำเนินคดีก็มีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการเอาผิดผู้นำหรืออดีตผู้นำประเทศ

สิ่งที่มักเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินคดีคือ การระบุตัวผู้กระทำผิด และการหาหลักฐานเอาผิดคนหล่านั้น เนื่องจากผู้นำระดับสูงมักไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม เช่นกรณีของเมืองบูชา เจ้าหน้าที่สืบสวนจำเป็นต้องหาให้ได้ว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบและมีสายการบัญชาการย้อนกลับขึ้นไปสูงแค่ไหน

ต่อให้อัยการสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือตัวนายปูตินเอง มีความเกี่ยวข้องโดยตรงหรือรับรู้เกี่ยวกับคำสั่งหรือการกระทำที่อาจทำให้เกิดอาชญากรรมสงคราม การไต่สวนของ ICC หรือศาลพิเศษอื่นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าเจ้าหน้าที่นั้นๆ จะถูกควบคุมตัว การไต่สวนลับหลังจำเลยไม่ได้รับการยอมรับจากกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่อย่างที่ระบุไปข้างต้น รัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิก ICC จึงไม่มีทางที่มอสโกจะส่งตัวปูตินหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อหามารับการไต่สวน เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามส่วนใหญ่ ถ้าไม่ถูกจับตัวระหว่างความขัดแย้ง ก็ถูกส่งตัวไปหลังจากหมดอำนาจแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในรัสเซียของนายปูติน

...

ลงโทษไม่ได้ แต่มีความหมาย

ถึงแม้ว่าปูตินอาจไม่ได้รับโทษใดๆ จากการอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน นอกจากเหนือจากประณามและการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ศ.อเล็กซ์ วิตติง รองอัยการพิเศษแห่งสำนักงานอัยการพิเศษโคโซโว ในกรุงเฮก เชื่อว่า การสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการตั้งข้อหาที่เกิดขึ้นได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก

“มันเป็นการส่งข้อความถึงเหล่าผู้เสียหายว่า มีคนเห็นและให้การยอมรับพวกเขา และมันยังเป็นการบอกผู้กระทำผิดด้วยว่า พวกเขากำลังถูกจับตามองอยู่”




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : BBC, Axios, Reuters