ความขัดแย้งรัสเซีย-อูเครนทำให้ไลน์ไอดี @ntp59 แทบแตก เพราะสมาชิกไลน์ 52,806 คน มีความคิดหลากหลาย และมีคำถามเข้ามาในแต่ละวันกันเยอะมาก คำถามล่าสุดที่เพิ่งอ่านเมื่อเย็นวันนี้ก็คือ ถามเรื่องความถูกต้องที่รัสเซียผนวกไครเมียและการบุกแคว้นดอนบาส

เท่าที่ฟังคำแถลงของฝ่ายรัสเซีย ปูตินบอกว่า กองทัพรัสเซียเข้าไปปลดปล่อยดอนบาส (ยังไม่ชัดเจนว่าดอนบาสจะมาเป็นส่วนหนึ่ง ของรัสเซียหรือเป็นชาติรัฐอิสระ) ส่วนเรื่องการได้ดินแดนเพิ่มของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ต้องไปดูข้อกฎหมายระหว่างประเทศเรื่อง The Acquisition of State Territory (การได้มาซึ่งดินแดนของรัฐ)

กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดว่าการได้มาซึ่งดินแดนทำได้โดย... 1.ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน 2.การค้นพบ 3.การเพิ่มพูนหรือการงอกเงยขึ้นของแผ่นดิน 4.การยกให้จากรัฐอื่นหรือโดยสนธิ สัญญา 5.การใช้กำลัง-การรบชนะ (ก่อน ค.ศ.1945 การใช้กำลังเพื่อ เข้าไปยึดดินแดนของรัฐอื่นมาเป็นของตน เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การส่งกองกำลัง เข้าไปในประเทศอื่น ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและไม่มีการรับรองให้ได้มาซึ่งดินแดนโดยการใช้กำลัง)

6.หลักการยอมรับโดยนิ่งเฉย หรือการยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และการถูกตัดบทหรือหลักกฎหมายปิดปาก 7.คำตัดสินของศาล 8.หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า Uti Possidetis และ 9.หลักการกำหนดใจตนเอง

ส่วนเรื่องการส่งกองกำลังเข้าไปในดินแดนของประเทศอื่น มีหลักการมากมายหลายอย่าง แต่ที่ชอบใช้เป็นข้ออ้างกันมากเหลือเกิน ก็คือ The Use of Force and the Protection of Nationals Abroad (การใช้กำลังและพิทักษ์คนชาติของตนในต่างประเทศ) ประเทศเล็กไม่ค่อยกล้าอ้างดอกครับ พวกที่อ้างมักจะเป็นประเทศใหญ่ หรือไม่ก็เป็นพวกที่มีลูกพี่เป็นมหาอำนาจชาติใหญ่

...

ผู้อ่านท่านยังจำสงครามอิสราเอลกับอาหรับใน ค.ศ.1967 ได้ไหมครับ ตอนนั้นอิสราเอลยึดเยรูซาเล็ม สหประชาชาติไม่ยอมรับ จึงออกข้อมติว่าการยึดเยรูซาเล็มไม่ถูกต้องและเรียกร้องให้อิสราเอลยกเลิกการยึดเยรูซาเล็ม เมื่อพูดถึงสหประชาชาติก็มีองค์กรหลักที่น่าสนใจคือ สมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคง ในสงครามอิสราเอล-อาหรับ ทั้งสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคงออกข้อมติไม่ยอมรับทั้งสององค์กร

ตอนที่อิรักบุกคูเวต คณะมนตรีความมั่นคงออกข้อมติตัดสินว่าการผนวกคูเวตของอิรักนั้น no legal validity (ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย) และให้การครอบครองคูเวตของอิรักเป็นโมฆะ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การยึดดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอล ตอนนั้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ “ให้ความเห็นเชิงแนะนำ” ว่าอิสราเอลไม่สามารถได้มาซึ่งสิทธิทางกฎหมายที่จะครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ เนื่องจากใช้กำลังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ค.ศ.1976 อิสราเอลอ้างสิทธิในการใช้กำลังเพื่อช่วยชีวิตและแย่งชิงคนอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ที่สนามบินเอ็นเทบเบ้ของสาธารณรัฐอูกันดา

ชาติที่อ้างสิทธิในลักษณะนี้บ่อยที่สุดคือสหรัฐฯ ค.ศ.1983 สหรัฐฯอ้างสิทธิการใช้กำลังเพื่อพิทักษ์คนอเมริกันในเกรนาดา ค.ศ. 1989 สหรัฐฯอ้างสิทธิบุกปานามา และ ค.ศ.1993 สหรัฐฯอ้างสิทธิการใช้กำลังข้อนี้บุกอิรัก ส่วนรัสเซียก็เคยอ้างสิทธินี้เมื่อ ค.ศ.2008 เพื่อบุกจอร์เจีย

เมื่อคนไครเมีย (ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อชาติรัสเซีย) ลงประชามติแยกจากอูเครน เพื่อมาอยู่กับรัสเซีย พวกรัสเซียในดอนบาสก็กระดิกพลิกตัวอยากทำตาม จนเกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลอูเครนกับพวกดอนบาสใน ค.ศ.2014 ถึง 2 รอบ หลังจากนั้นก็มีการสู้รบกันมาตลอด ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายไปหลายหมื่น

ค.ศ.2022 รัสเซียอ้างว่า มีหลักฐานว่าอูเครนจะโจมตีคนรัสเซียในแคว้นดอนบาส จึงรีบโจมตีซะก่อนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ กูรูต่างชาติทั้งหลายต่างโผล่ออกมาแถลงแสดงความเห็นกันบานเบอะเยอะแยะ นั่นก็ดีครับ เพราะทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาความขัดแย้งได้หลากหลายแง่มุมมากขึ้น.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com