ความกังวลและความกลัวเป็นความรู้สึกของมนุษย์ที่ยากจะหักห้ามได้ ทั้งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความมั่นคงโลก และการพัฒนาทางทหาร

แม้การสิ้นสุดยุคสงครามเย็นจะทำให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสนามรบเปลี่ยนเป็นสนามการค้า แต่สุดท้ายก็เห็นได้ชัดเจนว่ากองทัพและความเป็นอธิปไตยของประเทศแยกขาดจากกันยาก

คำพูดว่า “ไม่เห็นความจำเป็นของกองทัพ ทำไมยังต้องมี” อาจเป็นไปได้ในมุมมองแบบโลกยูโทเปีย ไร้พรมแดนไร้เชื้อชาติ ทุกคนจับมือกันร้องเพลงรอบกองไฟ แต่น่าเสียดายที่มันไม่เป็นเช่นนั้น อาวุธยังต้องมีด้วยความกลัวว่าวันหนึ่งอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน และการสั่งสมอาวุธยังต้องดำเนินต่อไป เนื่องจากความกังวลว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันแล้ว ของที่ใช้งานอยู่จะสู้อีกฝ่ายได้หรือไม่

การกล่าวเช่นนี้ มิใช่ว่าเป็นการสนับสนุนการซื้ออาวุธของกองทัพ แต่มองว่าคือ “สิ่งจำเป็น” เพื่อการป้องปราม ให้ทุกฝ่ายคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อนจะทำอะไรลงไป มิฉะนั้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย

ในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากมีฝ่ายหนึ่งต้องการสิ่งหนึ่ง และสุดท้ายเกิดอาการไม่คุยหรือเจรจากันไม่ลงตัว สงครามยูเครน-รัสเซีย ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกถือเป็นตัวอย่างชัดเจน ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก

หรือไม่ต้องมองไปไหนไกล ภูมิภาคเอเชียเองก็มีเหตุการณ์รุนแรงที่จู่ๆก็อุบัติขึ้นมา ไม่ว่ากรณีที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว เรื่องเรือลาดตระเวนโชนันเกาหลีใต้ถูกตอร์ปิโดยิงจมในทะเลเหลือง หรือกรณีพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชา ปี 2554 ที่มีการปะทะกันอย่างดุเดือด ในระดับส่งกำลังทหารเข้าตี ยิงสวนกันด้วยอาวุธหนักระหว่างรถยิงจรวดบีเอ็ม-21 ของฝั่งกัมพูชา กับปืนใหญ่ 155 มม.ของฝั่งไทย มีทหารและพลเรือนเสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก

...

หรือที่ยังตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์หมู่เกาะพิพาททะเลจีนใต้ ที่สุดท้ายก็ไม่มีใครมีกำลังมากพอจะไปป้องปรามขัดขวาง การอ้างความชอบธรรมของฝ่ายหนึ่งได้ต้องตกอยู่ในสภาพจำยอม.

ตุ๊ ปากเกร็ด