สถานการณ์เมียนมายังอยู่ภายใต้ “การปกครองของทหารมา 1 ปี” นับแต่เช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ.ปีที่แล้ว “เกิดการรัฐประหาร” ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจาก “รัฐบาลประชาธิปไตยกลับคืนสู่ยุคเผด็จการ” ทำให้ผู้คนออกเคลื่อนไหวต่อต้านจนกองทัพต้องใช้อาวุธ และความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด

ภาพเหตุการณ์ “นองเลือดกลางเมือง” ถูกเผยแพร่ออกไปทั้งโลกแล้ว “ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย” ต่างลุกฮือหันมาจับอาวุธตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force (PDF)) เคลื่อนไหวร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าโจมตีสู้รบกับทหารเมียนมาหลายจุดตามแนวชายแดนเมียนมา-ไทย

กลายเป็น “สงครามชายแดนเต็มรูปแบบ” ชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบ ต้องอพยพหนีตายข้ามน้ำเมยมาพึ่งไทยหลายพันคนช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรของประชาคมโลกอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่เป็นผลจนเป็นความท้าทายต่อ “สมเด็จฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีนี้

...

ไม่นานมานี้มีเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “1 ปีหลังรัฐประหารพม่า” ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์โดย ถวิล เปลี่ยนศรี ประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา บอกว่า

การทำรัฐประหารในเมียนมาไม่ใช่ครั้งแรกแล้วก็จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่นั้น “ทุกคน” ก็น่าจะจินตนาการออกได้ “ประเทศไทยมีพื้นที่ทางบก ทางน้ำ 2,400 กม. ติดกับเมียนมา” ได้รับผลกระทบอะไร ควรจะมีท่าทีอย่างไรนี้...? แน่นอนว่าการมองสถานการณ์ของประเทศพรมแดนติดกันย่อมต่างจากประเทศอยู่ห่างไกล

เช่นกรณีในหมู่บ้าน เมื่อเพื่อนบ้านมีปัญหาคนอยู่ติดกันมักเดือดร้อนมากกว่าบ้านห่างไกลออกไป แล้ววิธีการแก้ปัญหารับมือก็มักไม่เหมือนกันเสมอ

แต่ว่า...“การแก้ปัญหาความขัดแย้งหลังรัฐประหารเมียนมา” ในช่วงแรกๆก็เห็นท่าทีประชาคมโลกออกมาตรการลงโทษตั้งแต่ “ไม้แข็ง” กล่าวคือ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่ยอมรับผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ แต่คงให้ทูตเมียนมารัฐบาลเก่าประจำยูเอ็นทำหน้าที่ต่อไป

สะท้อนถึงการไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับ “ชาติตะวันตก” นำโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป แม้หลีกเลี่ยงการออกมาตรการไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชน แต่ก็ประกาศมาตรการคว่ำบาตรลงโทษทางเศรษฐกิจเช่นกัน

ถัดมาคือ “มาตรการไม้นวม” ที่จะเห็นในช่วงที่ผ่านมา “อาเซียนใช้กลไกตัวแทนคณะทหาร” เข้าพูดคุยเจรจาหาทางออกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันแล้ว “นานาประเทศ” ต่างคาดหวังมากว่าอาเซียนจะมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมาในการทำหน้าที่ได้ดีที่สุด เพื่อเข้ามาสู่กระบวนการปรองดองพูดจาต่อกัน

ต้องยอมรับว่า “การสร้างเสถียรภาพปรองดอง และความสงบเรียบร้อยในเมียนมา” มักเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกฝ่าย ในช่วงแรกๆอาเซียนมีการประชุมก็ดูเหมือนจะราบรื่นได้ผลดี มีการออกฉันทามติ 5 ประกาศ คือ ยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลาง อาเซียนจะให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทูต และคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางเยือนเมียนมาพบปะทุกฝ่าย

ด้วยสถานการณ์จริงไม่อาจเป็นไปตามฉันทามติได้ เพราะมีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และถูกจับกุมดำเนินคดีไม่ใช่น้อย ปัญหานี้ลุกลามให้ประเทศสมาชิกในอาเซียนแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ...

ฝ่ายแรก...“กลุ่มให้โอกาสรัฐบาลเมียนมา” ประกอบด้วยประเทศมีพรมแดนติดกับเมียนมา เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อีกฝ่ายคือ...“กลุ่มประเทศท่าทีแข็งกร้าว” มีพรมแดนห่างไกลออกจากเมียนมา เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ ที่กำลังมองว่ารัฐบาลเมียนมายังไม่ปฏิบัติตามฉันทามตินั้นอยู่

...

ต่อมาในปีนี้ “สมเด็จฮุน เซน นายกฯกัมพูชา” ในฐานะชาติแห่งประธานอาเซียนเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อโน้มน้าวปฏิบัติตามฉันทามติอาเซียนก็ถูกต้านจากสมาชิกอาเซียนเป็นกังวลในการรับรองรัฐบาลทหารหรือไม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่ “สมเด็จฮุน เซน” เดินทางถึงเมียนมา “อองซาน ซูจี” ถูกตัดสินเพิ่มโทษ 5 ปี ฐานละเมิดกฎหมายการสื่อสาร ในส่วน “ผลเจรจาหยุดยิงขยายไปสิ้นปีนี้” ทว่าก็เกิดปรากฏการณ์สู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลัง PDF รวมถึงชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม ทำให้สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ความสำเร็จที่ “ประธานอาเซียน” เดินทางเข้าเยือนโน้มน้าว “รัฐบาลเมียนมาเข้ามาสู่อาเซียน” เพื่อไม่ให้เมียนมาเป็นไปตามวิถีทางที่เกิดขึ้นอย่างวันนี้ก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างน้อย

ประเด็นมีต่อว่า...“ไทยฐานะมีพรมแดนประชิดติดกับเมียนมา” ทุกครั้งมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย หรือการสู้รบกันขึ้นมักต้องได้รับผลกระทบตลอดเสมอ แล้วสิ่งที่ยังเป็นอนุสรณ์ตกค้างจนมาถึงทุกวันนี้กว่า 37 ปีก็คือ “ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบราว 8 หมื่นคน” เข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของไทย

อาศัยอยู่กันแบบชุลมุนชุลเกปะปนรวมกันไป “คนบางส่วนมิได้มาจากเมียนมาแล้วเป็นประชากรที่เกิดเติบโตขึ้นมาในศูนย์ฯ” ส่งผลให้เป็นปัญหากระทบต่อไทยมากมายที่ยังไม่อาจหาทางแก้ไขได้ด้วยซ้ำ แล้วก็จะมีผู้หนีภัยการสู้รบรุ่นใหม่เข้ามาอีกจากเหตุการณ์ 1 ปีที่เกิดขึ้นในเมียนมาจะสร้างปัญหาให้เราเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ

...

เห็นได้จาก “ผลกระทบทันทีเรื่องความปลอดภัยบริเวณชายแดน” มีการปฏิบัติการทางทหารเข้ามาในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยด้วย “กลุ่ม PDF” อาศัยพื้นที่ชนกลุ่มน้อยซ่องสุมฝึกสู้รบต่างๆ ทำให้มีปฏิบัติการทางอากาศก็สุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบกับไทยได้รับทันที ส่วนประเทศห่างไกลคงไม่ได้รับผลกระทบเช่นนี้แน่นอน

แล้วมีปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมือง หรือแรงงานต่างด้าวพ่วงมากับโรคระบาดโควิด-19 อีก

ฉะนั้น การแก้ปัญหาจะปล่อยให้เมียนมาเป็นไปอย่างที่ SAC หรือสภาทหารตั้งขึ้นคงไม่เป็นที่ปรารถนาของไทย ส่วนการใช้ไม้แข็งจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นแล้วสร้างอันตรายมีผลกระทบกว่าเดิม คิดว่าแนวทางการประนีประนอมดึงเมียนมาเข้ามาปฏิบัติตามฉันทามติอาเซียน 5 ข้อให้เป็นมรรคเป็นผลจะเป็นทางออกดีที่สุด

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย “เนื้อหาฉันทามติ” มีรายละเอียดซับซ้อนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาตกลงร่วมกัน ปัญหาว่าตอนนี้แม้แค่ “ผู้แทนอาเซียนขอเข้าพบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอองซาน ซูจี ก็ไม่สามารถกระทำได้” ดังนั้นการยกเนื้อหาฉันทามติของอาเซียนทั้ง 5 ข้อให้เมียนมาปฏิบัติตามก็คงเป็นเรื่องยาก

...

ประการสุดท้าย...“การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการสู้รบ” มักมีคำถามเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณี “ประเทศไทยไม่ยอมให้องค์การเอ็นจีโอ” เข้าเกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในเมียนมาได้มากเท่าที่ควร ก็เพราะ “เกี่ยวเนื่องกับมิติด้วยความมั่นคงของไทย” อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

เพราะปัจจุบันมี “ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบรุ่นเก่าตกค้างอยู่ในไทยเกือบแสนคนมานานกว่า 37 ปีที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้” แต่ถ้ามีผู้ลี้ภัยเข้ามาใหม่ก็เชื่อว่า “หน่วยงานราชการไทย และหน่วยความมั่นคง” พร้อมให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมอย่างเต็มที่แต่จะไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกแน่นอน

ฉะนั้น “ปัญหาผู้ลี้ภัยต้องเป็นหน้าที่ของประชาคมโลก” ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ให้ไทยรับไปเต็มๆ แล้วเราเห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมาก็ไม่ได้สู้รบกันตลอดทุกพื้นที่ “ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีถิ่นฐานอยู่ในเมียนมา” เมื่อการสู้รบสงบปลอดภัยระดับหนึ่งควรต้องถูกส่งกลับประเทศด้วยเช่นกัน

เหตุผลนี้ตอบคำถาม “ทำไมเอ็นจีโอเข้ามาจัดการผู้ลี้ภัยได้ไม่เต็มที่” เพื่อประเทศไทยจะมีอิสระในการบริหารจัดการกันเอง ด้วยการยึดมั่นตามหลักสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศปฏิบัติกันทุกประการ

ย้ำว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรง” ไม่ว่าจะประเทศใด หรือผู้ใด ก็ไม่ปรารถนาแน่นอน “ประชาคมโลก” ต้องกดดันมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะคนข้างบ้านกันมักทำอะไรได้ไม่มาก...