ครบรอบ 1 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมียนมานับตั้งแต่ “กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน” แล้วจับกุมอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 จนมาบัดนี้สถานการณ์ยังคุกรุ่นเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุนแรงอยู่ตลอด

โดยเฉพาะ “กลุ่มเยาวชน นักศึกษา และประชาชนออกต่อต้านรัฐบาลทหาร” ที่ต้องถูกปราบปรามไล่ล่าจับกุมแตกกระเจิงไปคนละทิศละทางแล้วยังมีผู้ประท้วงถูกทางการจับกุมไปมากกว่าหมื่นคน

กลายเป็นแรงผลักดัน “ผู้ต่อต้านบางส่วน” หนีเข้าป่าไปขออาศัยอยู่ในเขตปกครองสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ใน จ.เมียวดี ที่ได้รับการสนับสนุนการฝึกสู้รบตั้งเป็น “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force (PDF))” เพื่อเป็นทหารของประชาชนต่อสู้กับรัฐบาลทหารต่อไป

ไม่นานมานี้ก็ “เปิดปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นทหารเมียนมา” สร้างความสูญเสียอย่างหนักในหลายจุดจน “กองทัพเมียนมาตอบโต้เอาคืนด้วยการโจมตีทางอากาศ และภาคพื้นดิน” กลายเป็นสงครามชายแดนระลอกใหม่ ที่มีผู้อพยพหนีตายข้ามน้ำเมยมาพึ่งไทยหลายพันคนในช่วงที่ผ่านมานี้

...

สะท้อนให้เห็นถึง “สถานการณ์เมียนมากำลังเผชิญความอลหม่านเต็มไปด้วยความรุนแรงต่อการสู้รบระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้าน” กระจายอยู่ในหลายพื้นที่เป็นระยะๆ นำมาซึ่งงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “1 ปีหลังรัฐประหารพม่า” จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์

พร้อมด้วยศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่ออกมาร่วมพูดคุยวิเคราะห์ย้อนสถานการณ์ 1 ปีมานี้

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล รอง ผอ.ฝ่ายวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ บอกว่า ถ้าย้อนดูการเลือกตั้งเมียนมาปี 2010 พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้รับคะแนนเสียงล้นหลาม ต่อมาปี 2015 พรรค National League for Democracy (NLD) มีคะแนนมากกว่าพรรค USDP

กระทั่งในปี 2020 มีเหตุประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยปรากฏผลการเลือกตั้งของพรรค NLD ได้รับคะแนนเสียงเกือบทุกเขต ส่วนพรรค USDP ได้คะแนนเสียงลดน้อยลงมาก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “ตั้งแต่ปี 2010–2021 ภูมิศาสตร์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ” เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเดิม

ยิ่งกว่านั้น “ถ้ากองทัพเล่นอยู่ในเกมการเลือกตั้งต่อไปจะทำให้ฐานคะแนนเสียงที่เหลือน้อยนิดหายหมดแน่ๆ” แม้ว่าในช่วงนั้น “พรรค NLD” ค่อนข้างถูกวิจารณ์มากมายจนกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเทียบกับ “กองทัพเมียนมา” ประชาชนก็คงเลือกพรรค NLD ดังเดิม เช่นนี้กองทัพเมียนมาจึงไม่อาจยอมรับได้

สิ่งนี้นำมาซึ่งสาเหตุหลัก “การทำรัฐประหาร ก.พ.ปีที่แล้ว” ภายหลังจากนั้น 6 เดือนก็มีการสู้รบกับกลุ่มที่ประกาศตัวเรียกว่า “People’s Defense Force (PDF) กองกำลังป้องกันตัวเอง” ที่น่าสนใจตามแผนที่ปรากฏพื้นที่สู้รบกับต่อต้านกองทัพกลุ่มแรกๆในเขตรัฐบะหม่า เขตแผ่นดินใหญ่ mainland สะกาย มาเกว กะฉิ่น

พอมาปัจจุบัน “ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร” จะเห็นการสู้รบเปลี่ยนแปลงไป ย้ายพื้นที่จาก mainland มาสู่พื้นที่เขตรับผิดชอบของกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อมูลใน 1 ปีมานี้ “รัฐบาลทหาร” ก็ไม่สามารถปกครองพื้นที่ได้ด้วย

ตอกย้ำต่อ “ความจำเป็นต้องใช้อาวุธจัดการกลุ่มผู้ต่อต้านอย่างเด็ดขาด” โดยเฉพาะกลุ่มกองกำลัง PDF ที่ได้รับการฝึกการใช้อาวุธจาก กลุ่มชาติพันธุ์ทำให้มีอัตราการสู้รบสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อมูลในช่วง 10 เดือนหลังรัฐประหารตั้งแต่เดือน พ.ย. ธ.ค. 2564 และเดือน ม.ค.2565 ประมาณการ ความสูญเสียไปแล้ว 7 พันคน

ประเด็นมีต่ออีกว่า “กองทัพเมียนมาเปลี่ยนแนวคิดกลุ่มชาติพันธุ์” เดิมเคยต่อสู้เพื่อยึดครองพื้นที่ของตัวเองแทนที่จะออกมาต่อต้านเผด็จการทั้งหมดก็แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านกองทัพอย่างชัดเจน เช่น ฉานใต้ ส่วนที่เหลือกว่าครึ่งลังเลยืนยันปกป้องพื้นที่ครอบครองตัวเองอยู่

อนาคตสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น “กองทัพเมียนมา” คาดหวังที่เรียกว่า “สงครามจากกลุ่มผู้นำทหารของชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆหันมาสู้รบกันเอง” แล้วเป็นข้ออ้างอธิบายให้กองทัพเข้าดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย

...

แต่ว่าตอนนี้ “กองทัพเมียนมา” พยายามเร่งจัดการกลุ่มกองกำลังต่อต้าน หรือผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาในการต่อต้านอย่างน้อย 3 พื้นที่คือรัฐกะเหรี่ยง รัฐกะเหรี่ยงแดง และรัฐฉาน ที่ใช้ปืนใหญ่เข้าปราบปรามโจมตีเกิดการสู้รบตรงชายแดนเมียนมา-ไทย ทำให้มีผู้หนีภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทยมากมาย

คาดว่าเร็วๆนี้น่าจะเห็น “การสู้รบในเขตรัฐฉาน” ล่าสุดองค์กรเอกชนศึกษาในเมียนมาประมาณการว่า IDPs (Internally Displaced People) หรือผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นคนด้วยซ้ำ

ประการต่อมา... “เศรษฐกิจเมียนมาหลังรัฐประหาร” เดิมอาศัยตัวเลขการลงทุนจากโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ) เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei SEZ) และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyaukphyu SEZ) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ตอนนี้กำลังเข้าสู่ “เศรษฐกิจเงินสด” เพราะระบบ Banking System ทำได้ยากจาก “ฝ่ายต่อต้านทำลายเสาสัญญาณโทรคมนาคม” จนการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในการทำธุรกรรมซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการบนอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาด แต่คงทำได้เฉพาะเขตแนวชายแดนไทย-เมียนมาเท่านั้น

และมีคำถามว่า...“1 ปีมานี้หลังรัฐประหารเมียนมาอยู่รอดอย่างไร” เพราะด้วยประชาชนค่อนข้างต่อต้านอย่างหนักรุนแรง และมีการสู้รบกันแทบทุกวัน จนไม่อาจปกครองประเทศได้ด้วยซ้ำ...?

ถ้าย้อนดู “เศรษฐกิจการลงทุนเมียนมาก่อนรัฐประหาร” มีผู้ลงทุน สูงสุด 10 ประเทศ คือ สิงคโปร์ 30% จีน 26% ฮ่องกง 12% ไทย 6.3% เกาหลีใต้ 5.9% สหราชอาณาจักร 5.4% เวียดนาม 3.2% ญี่ปุ่น 2.3% เมื่อเกิดรัฐประหารแล้วสิงคโปร์คงมีนักลงทุนสูงแต่ตัวเลขลดลง ส่วนไทย ฮ่องกง มีการลงทุนลดลง ยกเว้นจีนการลงทุนสูงขึ้น

...

ในแง่ “เศรษฐกิจเมียนมายังอาศัยการลงทุนต่างชาติ” แม้ว่ามีการรัฐประหารก็คงมีนักลงทุนเข้ามาอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะ “จีน” แทบไม่มีผลกระทบ แถมยังเห็นเส้นทางการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ก็ทำให้ “กองทัพเมียนมา” ค่อนข้างกังวลเป็นห่วงความรุนแรงกระทบต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจแย่ลงด้วยเช่นกัน

สังเกตจากช่วงหลังมานี้เริ่มเห็น “จีน” มีบทบาทต่อการกดดันกองทัพเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ ทำนองว่า “ถ้าปกครองประเทศไม่ได้ก็ควรใช้วิธีการพูดคุยประนีประนอม” อันเป็นทางออกดีที่สุด

สุดท้าย...“ประชาชนเป็นอย่างไร” ต้องอธิบายในปัจจุบันนี้ “คนเมียนมา” ยังไม่มีท่าทียอมแพ้แม้เวลาผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี คงเคลื่อนไหวต่อต้านกันอยู่ทุกวัน แม้ไม่อาจออกมาเดินขบวนชุมนุมประท้วงตามท้องถนนได้ดังเดิม เพราะทหารปราบปรามจับกุมผู้ต่อต้านอย่างหนัก เช่น ใครมีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องต้องถูกตรวจสอบ

แม้แต่ผู้เข้าร่วมกลุ่มขบวนการอารยะขัดขืนเมียนมา (CDM) ต้องถูกจับกุมเสมอ เช่นนี้คนเมียนมาหันมาเสนอต่อนานาชาติกดดัน “กองทัพเมียนมา” เปลี่ยนวิธีคิดด้านความมั่นคงเป็นประชาธิปไตย และเปลี่ยนวิธีแก้เศรษฐกิจเป็นลดความเหลื่อมล้ำนำมาสู่การเปลี่ยนการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศที่เป็นข้อเรียกร้องเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่า “ประชาชนเมียนมายืนยันไม่ยอมแพ้” ในอนาคตต้องมีผู้ลี้ภัยสงครามเพิ่มขึ้น เพราะทุกครั้งการสู้รบในเมียนมา ประเทศพรมแดนติดกันอย่างไทยมักได้รับผลกระทบเสมอ แล้วก็เชื่อว่า “ภาพการสู้รบตามแนวชายแดนเมียนมา–ไทย” มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแน่ๆ เรื่องนี้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ด้วย

...

นี่คือสถานการณ์หลังรัฐประหารเมียนมานำมาซึ่งความรุนแรงยืดเยื้อมา 1 ปี ที่คงต้องใช้กลไกอาเซียนเปิดช่องเจรจาเพื่อสันติภาพแห่งความปรองดอง แม้จะมองเห็นทางออกอันน้อยนิดอยู่ก็ตาม.