จับตาหนึ่งในหมากเด็ดของรัสเซีย ที่ทำให้กองกำลังนาโตต้องคิดหนัก หากจะเข้าแทรกแซงการรุกรานยูเครน คือ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก "คินซาห์ล" หรือ มีดบิน ที่ถล่มได้ทั่วทั้งยุโรปด้วยความเร็ว 10 มัค

สถานการณ์ชายแดนรัสเซียและยูเครนมาถึงจุดที่สุกงอม หลังสภาสูงของรัสเซียให้ไฟเขียวแก่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ด้วยการลงมติรับรองให้ปูตินมีสิทธิ์ใช้กำลังทางทหารนอกแผ่นดินรัสเซีย โดยล่าสุด รัสเซียส่งขบวนรถทหารกว่า 100 คัน เข้าไปในยูเครน พร้อมกับขนเลือดสำรอง เวชภัณฑ์ เพื่อไปตั้งโรงพยาบาลสนาม เข้าไปในพื้นที่เมืองโดเนตสก์และลูฮานสก์ของยูเครน พร้อมทั้งเริ่มดำเนินการเปิดฉากโจมตีแบบสายฟ้าแลบไปยังจุดยุทธศาสตร์ของเมืองหลัก และกรุงเคียฟ เมืองหลวง ทั้งสถานีไฟฟ้า ที่ตั้งมั่นทางทหาร คลังแสงของกองทัพยูเครน จนสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่ากำลังของนาโตก็ได้มีการขยับเข้าใกล้ชิดกับยูเครนแล้วเช่นกัน โดยกำลังทางอากาศของนาโตถูกส่งไปประจำการในโปแลนด์และลิทัวเนีย แต่ก็ยังไม่มีปฏิบัติการใด เกิดขึ้นจากทางฝั่งนาโต รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีรายงานข่าวที่น่าสนใจ ที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานถึง คือ การวางกำลังของ เครื่องบินขับไล่โจมตีความเร็วเหนือเสียง มิก-31เค ฟ็อกซ์ฮาวด์ (MiG-31K Foxhound) ที่เมืองคาลินินกราด ที่ตั้งอยู่บนทะเลบอลติก ระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย นี่ทำให้รัสเซียมีอาวุธสำคัญที่จะทะลวงแนวหลังของกองกำลังนาโตได้ โดยจากจุดนี้ มิก-31 สามารถปล่อยขีปนาวุธความเร็วไฮเปอร์โซนิกตัวล่าสุด นั่นคือ Kh-47M2 Kinzhal หรือ คินซาห์ล ที่แปลว่า "มีดบิน" ที่มีรัศมีการยิง 2,000 กิโลเมตร เท่ากับว่ารัสเซียมีแต้มต่อในการโจมตีเป้าหมายในทุกจุดทั่วยุโรปแบบสบายๆ

...

จุดกำเนิดของ คินซาห์ล ไอ้มีดบิน ที่จะเขย่าขวัญนาโต

Kh-47M2 คินซาห์ล (Kinzhal) เข้าประจำการครั้งแรกในเดือน ธ.ค.ปี 2017 และเปิดตัวต่อสาธารณชนในเดือน มี.ค.ปี 2018 ถือเป็น ALBM หรือ ขีปนาวุธปล่อยจากอากาศยาน ที่ออกแบบมาให้มีความเร็ว 10 มัค และระยะยิงไกล 2,000 กิโลเมตร ออกแบบมาเพื่อจัดการเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองกำลังนาโต ในช่วงที่มีปัญหาเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป ที่ทางนาโตได้วางระบบป้องกันเอาไว้ โดยใช้ขีปนาวุธป้องกันบนเรือรบ และฐานยิงบนบก อันประกอบไปด้วย 3 อาวุธสำคัญ ได้แก่ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน MIM-104 แพทริออต PAC III ระบบต่อต้านขีปนาวุธ ทาด (TADD) และ ระบบเอจีส บนเรือรบสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในทะเลเหนือ ทะเลบอลติก และ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

คินซาห์ล ถูกออกแบบโดยส่วนขับดันท่อนแรก นำเอารูปแบบมาจากขีปนาวุธ 9K720 Iskander ใช้การขับเครื่องจากเชื้อเพลิงแข็ง และส่วนระบบนำวิถีและหัวรบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะตัว สามารถใช้ยิงเป้าหมาทั้งเป้าอยู่กับที่และเป้าเคลื่อนไหว หลังจากปล่อยจากเครื่องบิน เครื่องยนต์จะถูกจุดขีปนาวุธจะเร่งความเร็วไปถึงย่านไฮเปอร์โซนิก เพื่อหลบเลี่ยงระบบต่อต้าน ด้วยความเร็วสูงของมันทำให้อำนาจการทะลุทะลวงสูงกว่าการใช้ขีปนาวุธความเร็วตำกว่าเสียง หรือ พวกขีปนาวุธร่อนถึง 432 เท่า ด้วยพลังงานจลน์ที่สะสม

ขีปนาวุธ Kinzhal มีความเร็ว 10 เท่าของความเร็วเสียง และความคล่องตัวสูง ทำให้ไม่สามารถสกัดกั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้ในการยิงหัวรบนิวเคลียร์ และการโจมตีด้วยหัวรบแบบธรรมดา ด้วยความแม่นยำต่อเป้าหมายในพื้นที่กว้าง หากมิก-31 ออกจากน่านฟ้าของคาลินินกราด พวกเขาจะสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก โดยผสมผสานรัศมีการรบสูงสุดของ มิก-31 เข้ากับพิสัยไกลของขีปนาวุธความเร็วไฮเปอร์โซนิกดังกล่าว

...

การวางกำลัง มิก-31 เคพร้อมทั้ง Kinzhal เกิดขึ้นหลังจากการติดตั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธีแบบพื้น-สู่-พื้น Iskander ไปยังคาลินินกราด เมื่อเดือนธันวาคม 2014 หลังจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับนาโต เพิ่มขึ้นในช่วงในปีนั้น โดยขีปนาวุธ Iskander ได้รับการออกแบบมาให้เจาะระบบป้องกัน เพื่อโจมตีรูปแบบเดียวกันให้ยากต่อการสกัดกั้น แต่มีพิสัยไกลกว่าที่ 500 กม. และยังเป็น 1 ในขีปนาวุธที่ถูกส่งเข้าไปยังยูเครนด้วย

มิก-31 เค ฟ็อกซฮาวน์ จากเครื่องบินขับไล่ สู่การเป็นจอมยุทธ์พกมีดบิน

เครื่องบินขับไล่ MiG-31K ที่มีขีปนาวุธ Kinzhal เป็นยุทโธปกรณ์ของรัสเซียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในคลังแสงของรัสเซีย ด้วยความเร็วกว่า 2.8 มัค และระดับความสูงที่ไม่มีใครเทียบได้ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุกที่มากกว่าเครื่องบินขับไล่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องบินทิ้งระเบิด

เครื่องบิน มิก-31 ฟ็อกซ์ฮาวนด์ เดิมถูกออกแบบมาให้ทำให้ที่สกัดกั้นระยะไกล เนื่องจากรัสเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก จึงต้องใช้เครื่องบินขับไล่ที่บินเร็ว และติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีระยะไกล สำหรับรับมือภัยคุกคามทางอากาศ อาทิ เครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินลาดตระเวนหาข่าว มันต่อยอดความสำเร็จมาจาก มิก-25 ฟ็อกซ์แบ็ท เครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง 3 เท่า ผลิตมาเพื่อจัดการเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง XB-70 วัลคีรีในช่วงสงครามเย็น โดย มิก-31 ฟ็อกซ์ฮาวนด์ มีนักบิน 2 คน ติดตั้งเรดาร์เฟส อาร์เรย์ แบบ ซาสลอน ที่มีระยะตรวจจับเป้าหมายไกลกว่า 200 กม.

...

อย่างไรก็ตาม มิก-31 เค ฟ็อกซ์ฮาวนด์ คือการนำเอามิก-31 บีเอ็ม มาปรับปรุงใหม่โดยถอดเอาระบบการสู้รบทางอากาศออกแล้ว ติดเพียงแค่ ขีปนาวุธ Kinzhal โดยในเริ่มแรก มีจำนวนทั้งหมด 10 ลำ ที่ถูกปรับปรุงเป็นรุ่น เค มันมีเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน รุ่น Soloviev D-30F6 พร้อมสันดาปท้ายให้ความเร็ว 2.83 มัคที่ความสูง 70,000 ฟิต ด้วยขนาดลำตัวยาวกว่า 22 เมตร มันเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ใหญ่และยาวที่สุดในโลก เพียงแต่ด้วยความแรงของเครื่องยนต์ทำให้มันซดน้ำมันหนัก ระยะปฏิบัติการจึงสั้นเพียงราว 720 กม. เมื่อน้ำมันเต็มถังในลำตัว และใช้ความเร็วเหนือเสียง 2.35 มัค

กำลังรบที่คาลินินกราดของรัสเซีย

...

นอกจากการวางกำลังเครื่องบินขับไล่ มิก-31 เค แล้ว ยังมีเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ ซู-30SM2 แฟลงก์เคอร์ ซี อันเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 รุ่นแรกด้วย เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน การมีอยู่ของขีปนาวุธ Kinzhal ทำให้สมดุลอำนาจทางทหารของภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป เพราะทำให้กองกำลังรัสเซียสามารถต่อต้านเป้าหมาย เช่น สนามบินและศูนย์บัญชาการ ในช่วงเปิดสงครามมันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีประเทศใดในตะวันตกที่สร้างขีปนาวุธที่เทียบเคียงมันได้ หรือไม่สามารถป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธความเร็วมัค 10 ได้ ทำให้ Kinzhal เป็นความสำเร็จ ที่แสดงถึงความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีทางทหารที่รัสเซีย จะได้รับประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากมัน ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังที่คาลินินกราด รัสเซียยังได้วางกำลังระบบป้องกัน S-400 และเครื่องบินขับไล่ Su-35 จากภูมิภาคตะวันออกไกล เพื่อเสริมกำลังให้พันธมิตรเพียงผู้เดียวในทวีปยุโรป นั่นคือ เบลารุส ที่อยู่ติดยูเครน

โอกาสที่คินซาห์ลจะถูกใช้งานโจมตีนาโต

แน่นอนว่าฝ่ายตะวันตก รวมทั้งนาโตเองก็เกร็งตัวแข็ง กับการต้องรับมือภัยคุกคามที่มากับความเร็วสูงแบบนี้ นั่นทำให้การวางกำลังในยุโรปตะวันออกก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี เพราะฐานทัพอากาศสหรัฐฯ และกองกำลังนาโต ทั้งฐานขีปนาวุธ รวมทั้งกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หากโดนคินซาห์ลโจมตีก็ยากที่จะป้องกันได้ และเสี่ยงต่อการสูญเสียใหญ่ โดยระยะยิงถ้ายิงจากคาลินนินกราดไกลสุดไปได้ถึงเกาะอังกฤษ สเปน ถ้านำเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าใกล้ทะเลดำ หรืออยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนจุดที่ปลอดภัย คือ โปรตุเกส และช่องแคบยิบรอลตา ทั้งนี้ หากมีการใช้งานจริงก็เชื่อว่าจะติดแค่หัวรบธรรมดา ไม่น่าจะใช้งานหัวรบนิวเคลียร์ อีกทั้งรัสเซียยังมีขีปนาวุธแบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพการโจมตีไม่แพ้กันใช้งานอีกหลายชนิด.

ผู้เขียน : จุลดิส รัตนคำแปง

ที่มาข้อมูล : militarywatchmagazine , วิกิพีเดีย คินซาลห์ , The Drive ,

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊กเพจ MOD Russia