มิซุฮิกิ (Mizuhiki) คือการผูกถักเชือกในสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ เป็นเชือกพิเศษที่นำกระดาษสา “วาชิ” ญี่ปุ่นมาบิดเป็นเกลียวผสมกับสาหร่ายทะเลและดินเหนียวสีขาว ทำให้แข็งด้วยการใช้แป้งเปียก ผูกรวมกับเส้นไหมสีสันต่างๆ ส่วนใหญ่ผูกเป็นเงื่อนร้อยพาดกันแล้วนำไปมัดแนบติดไปกับของขวัญในโอกาสต่างๆ

หากมีความชำนาญสามารถถักเป็นรูปทรงต้นสน ต้นไผ่ ต้นพลัม นกกระสา หรือเต่าที่เชื่อกันว่าเป็นสัตว์มงคล

ซึ่งสำหรับเคียวโกะ โอโมดะ มองว่า “มิซุฮิกิ” หรืองานศิลป์ของการผูกเงื่อน เป็นช่องทางพิเศษสำหรับการเชื่อมโยงคนเข้าถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านการมอบเป็นของขวัญ และตัวเธอเองก็หวังจะใช้ประสบการณ์ช่วยเหลือผู้อื่นค้นหาปมของตัวเองเมื่อครั้งอดีต

“นี่คือประเพณีของความมีน้ำจิตน้ำใจที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการมอบของขวัญ แต่ยังสะท้อนถึงความหวังดีของผู้ให้ที่เอาใจใส่มากแค่ไหนกับการห่อของขวัญ” โอโมดะ ซึ่งเริ่มฝึกฝนศิลปะนี้จากเพื่อนคนหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนคราวที่ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิกาวะ หลังไปใช้ชีวิตช่วงวัยเยาว์ที่เคนยากับอินโดนีเซีย กระทั่งในวัย 52 ตัวเองก็ค้นหาวิธีเกี่ยวดองตัวตนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น

และเมืองคานาซาวะก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ “มิซุฮิกิ” เบ่งบานที่การบิดเกลียวสร้างเป็นฟอร์ม แต่ละแบบที่แสดงถึงความหมายในเชิงมงคล เช่น อายุยืนยาว หรือยึดโยงตลอดกาล และการผูกเงื่อนแนวนี้ส่วนใหญ่มักเห็นการผูกติดกับกล่องพัสดุ หรือซองจดหมายที่แพตเทิร์นแตกต่างไปตามแต่ละงาน เช่น งานมงคลสมรส หรืองานศพ

ประวัติศาสตร์หากมองย้อนกลับไป “มิซุฮิกิ” อยู่ในช่วงยุคสมัยอาซูกะ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6-8 ทูตท่านหนึ่งของญี่ปุ่นเดินทางไปจีนที่อยู่ในสมัยราชวงศ์สุย (581-618) แล้วก่อนเดินทางกลับประเทศ ทูตของจีนก็ได้มอบของขวัญที่ตกแต่งด้วยเชือกป่านสีแดงและสีขาว จากสิ่งของล้ำค่าตลอดหลายปีผันผ่านมาเนิ่นนาน “มิซุฮิกิ” ก็ได้นำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ลามไหลไปถึงการประดิษฐ์เป็นต่างหูและเครื่องประดับต่างๆ

...

“มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายกับมิซุฮิกิ” โอโมดะเผย และความหลงใหลของตัวเอง บวกกับความชำนาญการเป็นแรงผลักอยากให้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการมากขึ้น จนนำไปสู่การตั้ง “สมาคมมิซุฮิกิโมเดิร์น” เมื่อ 2562 อยู่ที่กรุงโตเกียว...(มีต่อ)

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ