การละลายของธารน้ำแข็งอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัจจุบันมีการประเมินว่าธารน้ำแข็งมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 25-30% ซึ่งประมาณ 10% ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลราว 9.1 เมตรกำลังเผชิญกับปัญหาระดับน้ำเพิ่มสูง

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันด้านธรณีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ไอจีอี (IGE) และมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า การค้นหาปริมาณก้อนน้ำแข็งที่เก็บกักไว้ในธารน้ำแข็ง เป็นขั้นตอนสำคัญต่อการคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชุมชน และการได้รู้ว่ามีธารน้ำแข็งน้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก

จากการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมของธารน้ำแข็งหลายแห่ง ทั้งดาวเทียม Landsat-8 ของนาซา ดาวเทียม Sentinel-1, Sentinel-2 ขององค์การอวกาศยุโรป และข้อมูลถูกนำไปประมวลผลโดยใช้การคำนวณมากกว่า 1 ล้านชั่วโมงที่ IGE จึงทำให้สร้างแผนที่ใหม่ที่วัดการเคลื่อนไหวและความหนาของธารน้ำแข็งของโลก ซึ่งระบุว่าครอบคลุมถึง 98% ของธารน้ำแข็งทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคที่ไม่เคยมีการทำแผนที่มาก่อน เช่น เทือกเขาทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ หมู่เกาะย่อยๆในแอนตาร์กติก และนิวซีแลนด์ ผลการวิจัยพบว่าก้อนน้ำแข็งน้อยลงในบางภูมิภาค และบางพื้นที่มีก้อนน้ำแข็งมากขึ้น แต่ประเมินผลโดยรวมก็คือ ธารน้ำแข็งในโลกมีก้อนน้ำแข็งน้อยกว่าที่เคยคิดไว้ 20%

ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่ามีก้อนน้ำแข็งน้อยกว่าเกือบ 1 ใน 4 ในเทือกเขาแอนดีสทางอเมริกาใต้ นั่นหมายความว่ามีน้ำจืดน้อยกว่า 23% ที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ผู้คนนับล้านต้องพึ่งพาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกัน ภูเขาหิมาลัยในฝั่งเอเชียกลับพบว่ามีก้อนน้ำแข็งมากกว่า 1 ใน 3 จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และผลวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าอาจมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 37% ในภูมิภาคดังกล่าว

...

ด้วยข้อมูลของแผนที่ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะทำให้เข้าใกล้ต่อการรู้ขนาดของพื้นที่เก็บกักน้ำในธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้มีนัยต่อความพร้อมของน้ำดื่ม รวมถึงการจัดหาน้ำสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมและประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย.

ภัค เศารยะ